ความหมายธงกฐิน จระเข้-ตะขาบ-นางมัจฉา-เต่า

Image result for ธงจระเข้
Image result for ธงตะขาบ http://www.amuletcenter.com
Image result for ธงนางมัจฉา

การทอดกฐิน หรือการกรานกฐิน จัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลา คือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น ในการทอดกฐินหรือการถวายผ้ากฐิน มีความเกี่ยวเนื่องกับธงกฐินมาแต่อดีต  ธงกฐิน เป็นเครื่อง หมายแสดงให้รู้ว่าวัดนี้ได้รับผ้ากฐินแล้วมี 4 แบบแฝงด้วยความรู้เกี่ยวกับธรรมะ คติธรรม ประกอบด้วย


1.ธงจระเข้ เปรียบถึง ความโลภ (ปากใหญ่ กินไม่อิ่ม) มีตำนานว่าเศรษฐีเกิดเป็นจระเข้ว่ายน้ำตามขบวนกฐินจนขาดใจตาย ใช้ประดับวัดที่ทอดกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ญาติโยมที่เดินผ่านไปมาเห็นเข้าก็จะยกมือไหว้อนุโมทนาสาธุ

2.ธงตะขาบ หมายถึง ความโกรธ (พิษ ที่เผ็ดร้อนเหมือนความโกรธที่แผดเผาจิต) ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดนี้มีคนมาจองกฐินแล้ว ให้ผู้จะมาปวารณาทอดกฐินผ่านไปวัดอื่นเลย ไม่ต้องเสียเวลามาถาม

3.ธงนางมัจฉา หมายถึง ความหลง (เสน่ห์แห่งความงามที่ชวนหลงใหล) ใช้ประดับ งานพิธีถวายผ้ากฐิน เป็นตัวแทนหญิงสาว ตามความเชื่อว่า อานิสงส์จากการถวายผ้าแก่ภิกษุสงฆ์จะมีรูปงาม

4.ธงเต่า หมายถึง สติ ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว จะปลดลงในวันเพ็ญเดือน 12

ปริศนาธรรมจากธงกฐินทั้ง 4 ธงจระเข้ ตะขาบ นางมัจฉา ก็คือ ความโลภ โกรธ หลง ที่มีมาจากคณะกฐิน หรือพุทธศาสนิกชนบางคน พอได้อานิสงส์ผลบุญจากการทอดกฐินก็จะปรากฏธงเต่า คือ เกิดสติ ทำให้มีปัญญา แก้ปัญหาทุกอย่างลงได้ เชื่อกันว่าอานิสงส์จาก การถวายผ้ากฐิน เป็นการถวายสังฆทานที่ได้บุญยิ่งใหญ่

นอกจากนี้  ยังมีความเชื่ออีกว่า ในงานทำบุญทอดกฐิน ผู้คนจะแย่งและอยากได้ธงมัจฉา และธงจระเข้กันมาก หากจะได้จริงๆ ต้องจอง หรือไม่ก็เป็นประธานใหญ่เท่านั้น กฐินงานหนึ่งจะมีธงใหญ่แค่อย่างละ 1 ผืนเท่านั้น  เพราะเชื่อกันว่าคนที่ได้ไปบูชา ติดบ้านเรือน ร้านค้า จะมีเงินทอง ไหลมาเทมา ไม่ขาดสาย ดั่งงานกฐิน ของตามวัดต่างๆ ที่มีแต่คน นำเงิน ทอง ข้าวของ เครื่องใช้ต่างๆ มาให้ ด้วยจิตศรัทธา