หลวงปู่ศุข อาจารย์กรมหลวงชุมพรฯ

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ “พระบิดาแห่งราชนาวีไทย” นั้น ทรงเลื่อมใสไสยศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง และฝากตัวเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิใกล้ชิดของหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท ผู้โด่งดังในเรื่องไสยเวทย์
กล่าวกันว่า ถ้ากล่าวถึงกรมหลวงชุมพรฯ ก็เว้นเสียมิได้ที่จะต้องกล่าวถึงหลวงปู่ศุข และถ้ากล่าวถึงหลวงปู่ศุข ก็เว้นเสียมิได้เช่นกันที่จะต้องกล่าวถึงกรมหลวงชุมพรฯ
ความสัมพันธ์ของศิษย์และอาจารย์คู่นี้ เริ่มขึ้นเมื่อเสด็จในกรมเสด็จประพาสทางน้ำ โดยมีเรือกลไฟลากจูงเรือพระที่นั่งขึ้นไปทางเหนือและไปจอดหุงข้าวต้มแกงกันที่หน้าวัดมะขามเฒ่า เผอิญวันนั้นหลวงปู่ศุขใช้ให้เด็กวัดไปตัดหญ้าที่ดงกล้วย เด็กเห็นหัวปลีสุดอยู่ 7-8 หัวจึงตัดกองไว้ ตกบ่ายหลวงปู่เดินลงไปดูเด็กตัดหญ้า เห็นหัวปลีกองอยู่จึงนั่งลงหยิบมาลูบคลำ สักครู่ก็วางลง ทันใดหัวปลีก็กลายเป็นกระต่ายวิ่งเพ่นพ่าน กรมหลวงชุมพรฯ ทอดพระเนตรเห็นอัศจรรย์ ดังนั้นจึงเรียกคนในเรือมาดู สักครู่กระต่ายที่วิ่งอยู่ก็กลับมาหาหลวงปู่ศุข หลวงปู่จึงจับมาวางที่กองเก่า กลายเป็นหัวปลีไปอย่างเดิม
กรมหลวงชุมพรฯ ไม่รอช้า ชวนพระยากาจกำแหงและ ผู้ติดตามอีก 2 คนขึ้นไปกราบนมัสการหลวงปู่ คุยกันสักพักหลวงปู่ก็ชวนขึ้นไปคุยบนกุฏิ ต่างคุยถูกคอจน 4-5 ทุ่ม จึงเสด็จกลับเรือ หลวงปู่ก็ไม่รู้ว่าใครที่มาคุยด้วยจนดึก เช้าขึ้นให้คนไปสืบถามกับคนที่มาในเรือจึงได้รู้ว่า
“นี่แหละพระองค์เจ้าอาภากร ลูกในหลวง ร.5”
รุ่งเช้ากรมหลวงชุมพรฯ ก็เสด็จขึ้นไปหาหลวงปู่อีก หลวงปู่ก็รับรองเต็มที่ ยกนี้คุยกันยาวถึงบ่าย 2 โมงโดยต่างก็ไม่รู้สึกตัว หลวงปู่ลืมฉันเพล เสด็จในกรมก็ไม่ได้เสวยอาหารกลางวัน
ตอนบ่ายหลวงปู่ได้ถามว่า “อยากดูคนเป็นจระเข้มั๊ย?”
เสด็จฯ รับว่าอยากดู หลวงปู่จึงให้หาทหารเรือมา 1 คน เสด็จฯ ก็ให้คนไปเรียกพลทหารจ๊อกมา หลวงปู่บอกกับพลทหารจ๊อกว่า “เป็นจระเข้ให้เขาดูหน่อย”
แล้วพาไปที่ขอบบ่อ เอาเชือกผูกเอวพลทหารจ๊อกไว้ ให้นั่งหลับตาพนมมือ หลวงปู่เสกเป่าอยู่พักหนึ่งแล้วผลักพลทหารจ๊อกลงไปในบ่อ บัดดลพลทหารจ๊อกก็กลายเป็นจระเข้ไปทันทีท่ามกลางสายตาของคนในเรือที่ตามมาดูรอบบ่อ สักครู่หลวงปู่ให้เอาบาตรตักน้ำมาทำเป็นน้ำมนต์ แล้วสาดลงไปในบ่อ พลทหารจ๊อกก็กลับเป็นคนอย่างเดิม ลากกลับขึ้นมาด้วยอาการปกติ
จากการแสดงของหลวงปู่ศุขวัดมะขามเฒ่าครั้งนี้ หลังจากนั้น กรมหลวงชุมพรฯ ก็ไม่ได้เสด็จไปตากอากาศที่ไหนอีก มีเวลาเมื่อใดเป็นต้องเสด็จไปประทับที่วัดมะขามเฒ่า ขณะเดียวกันก็สร้างกุฏิขึ้น 1 หลังที่วังนางเลิ้ง สำหรับให้หลวงปู่พักเมื่อมากรุงเทพฯ เมื่อหลวงปู่มาแต่ละครั้งก็ปรากฏว่ามีบริวารของเสด็จฯ เองรวมทั้งประชาชนอื่นๆ แห่ไปหาจนแน่นกุฏิทั้งกลางวันกลางคืนเพื่อขอของดี กรมหลวงชุมพรฯ ต้องกำหนดเวลาตั้งแต่เช้าถึงเพลรอบหนึ่ง และย่ำค่ำถึง 3 ทุ่มอีกรอบ นอกนั้นห้ามรบกวนหลวงปู่
หลังจากที่ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่าแล้ว ก็มีเรื่องเล่าถึงการอยู่ยงคงกระพันชาตรีของกรมหลวงชุมพรฯ หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งเล่ากันว่า ขณะที่ทรงเสวยน้ำจัณฑ์อยู่ในวังนางเลิ้ง มีคนวิ่งเข้ามาทูลว่า
ขณะนั้นมหาดเล็กของพระองค์คนหนึ่งกำลังมีเรื่องวิวาทอยู่กับพวกนักเลงนางเลิ้ง ถูกนักเลงหลายคนช่วยกันรุม เสด็จฯ จึงทรงรถม้าออกไปอย่างรีบด่วน และไปถึงขณะที่พวกนักเลงกำลังใช้ดาบกลุ้มรุมมหาดเล็กของพระองค์อยู่ จึงทรงกระโจนจากรถม้าเข้าคร่อมร่างของมหาดเล็กที่เสียท่านอนหงายอยู่ที่พื้นไว้
คมดาบของนักเลงจึงลงกลางหลังพระองค์ดังฉึก แต่ไม่เข้าทำเอาพวกนักเลงพากันตกใจ พอดีกับบรรดามหาดเล็กในวังวิ่งตามมาทัน พวกนักเลงเลยพากันเผ่นหนีโดยไม่ทันรู้ว่าพระองค์เป็นใคร
ทุกวันนี้ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดอุทัยธานี ทุกศาลาจะมีรูปปั้นกรมหลวงชุมพรฯ เคียงคู่อยู่กับหลวงปู่ศุข เสมือนพระองค์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับหลวงปู่ และมีผู้ไปกราบไหว้กันไม่ขาดสาย บ้างก็นำสำรับอาหารไปถวายเหมือนหลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ ภายในโบสถ์ก็มีภาพฝีพระหัตถ์ของเสด็จฯ ประดับไว้ที่ฝาผนังโบสถ์ ส่วนภายในพระตำหนักของเสด็จฯ ที่อยู่ในวัด ก็ยังมีเครื่องแบบและสิ่งของต่างๆ ของพระองค์จัดแสดงไว้ให้ชม
ประวัติหลวงปู่ศุข 
หลวงปู่ศุขเกิดที่บ้านปากคลองมะขามเฒ่านี้ วันเดือนปีไม่มีบันทึกไว้ รู้แต่ว่าเกิดในสมัยรัชกาลที่ 4 พออายุได้ 7 ขวบพ่อแม่ได้นำไปฝากับพระอาจารย์ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า เรียนหนังสือจนอ่านออกเขียนได้ และยังศึกษาภาษาขอมกับเวทมนตร์ต่างๆ อีก
พออายุ 18 แตกหนุ่มก็ออกจากวัดเที่ยวเตร่ไปตามประสาหนุ่ม จนอายุ 20 พ่อแม่ก็ขอให้กลับมาบวชที่วัดปากคลองฯ
พอเป็นพระ หลวงปู่ศุขก็มุ่งในพระศาสนาอย่างเคร่งครัด เป็นครูสอนพระธรรมวินัยให้พระภิกษุรุ่นใหม่อยู่หลายพรรษา ทั้งคร่ำเคร่งศึกษาวิปัสสนากรรมฐานจนแตกฉาน จึงออกธุดงค์ไปตามป่าเขาเพียงลำพังองค์เดียวถึง 10 ปี
เมื่อกลับมาเยี่ยมบ้านอีกใน พ.ศ. 2434 วัดปากคลองมะขามเฒ่าก็กลายเป็นวัดร้างไปแล้ว ถูกทอดทิ้งให้ทรุดโทรม หลวงปู่จึงร่วมกับโยมพ่อโยมแม่และชาวบ้านบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่
โดยได้สร้างพระพิมพ์เนื้อตะกั่วขึ้น เรียกกันว่า “พิมพ์ชาวบ้าน” แจกจ่ายให้ผู้ร่วมบริจาค เป็นทุนสร้างโบสถ์และวิหาร นับเป็นวัตถุมงคลรุ่นแรกของหลวงปู่ศุข ต่อมาหลวงปู่ก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูวิมลคุณากร
หลวงปู่ศุขมรณภาพโดยโรคชราใน พ.ศ. 2466 ปีเดียวกับที่กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ทิ้งไว้แต่เรื่องราวที่น่าทึ่งน่าพิศวงของอาจารย์และศิษย์คู่นี้ ให้เล่าขานกันต่อมามากมายจนทุกวันนี้