วิธีคลายเครียด

ในชีวิตประจำวันของคนเราทุกคน ต้องประสบกับความเครียดเสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองหลวง มีแนวโน้มว่าจะมีความเครียดมากกว่าคนชนบท ที่เห็นได้ชัดคือภาวะแวดล้อม การจราจร และปัจจัยอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ความเครียดอาจเกิดจาปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงสถานการณ์ที่คุกคามสวัสดิภาพอย่างรุนแรง

ความเครียดคืออะไร

ความเครียด หมายถึง สภาวะของอารมณ์ที่คนเรารู้สึกว่าไม่สบายใจ วุ่นวายใจ สับสน ไม่มั่นคงปลอดภัย ไม่อยากเจอ ไม่ต้องการหนี หรือขจัดให้หมดไป ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการที่คนเราได้รับอารณ์ที่ไม่ปรารถนา หรือการตัดสินใจที่ผิดพลาดทำให้จิตใจได้รับความทุกข์

สาเหตุของความเครียด

คนเราทุกคนย่อมหนีไม่พ้นความเครียด แต่ความเครียดมากน้อยหรือความรุนแรงอาจจะต่างกัน ส่วนที่มาหรือสาเหตุสามารถจำแนกได้ 4 ทาง คือ

  1. ทางกาย ได้แก่ โรคภัยไข้เจ็บ ความพิการ
  2. ทางจิตใจ ได้แก่ ความไม่สมหวัง ความขัดแย้งต่าง ๆ ภายในจิตใจ
  3. ทางสังคม ได้แก่ มลภาวะในรูปต่าง ๆ เช่น อากาศเสีย ควันพิษ น้ำเน่า เสียงดัง การจราจรติดขัด เป็นต้น
  4. ทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ค่าครองชีพในการดำรงชีวิตประจำวัน รายรับน้อยกว่ารายจ่าย ทำให้เป็นหนี้สิน ความเป็นอยู่อัตคัด ล้วนนำมาซึ่งความเครียด

ผลของความเครียด

เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น ผลที่เห็นได้ง่ายและชัดเจนคือร่างกาย ผู้ที่มีความเครียดสูงไม่สามารถปรับตัวได้ จนกระทั่งเกิดการไม่สบาย เช่น ปวดศีรษะ เป็นไข้ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หายใจไม่ค่อยอิ่ม ปวดเมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความดันโลหิตสูง เป็นโรคกระเพาะอาหาร และเป็นผลร้ายต่อจิตใจด้วย เช่น หงุดหงิด สับสน คิดอะไรไม่ออก เบื่อหน่าย โมโหง่าย บางครั้งพาลทะเลาะวิวาทกับคนใกล้ชิด ซึมเศร้า ไม่อยากพูดจากับใคร ทำให้วิตกกังวล กลัวอย่างไร้เหตุผล อารมณ์ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงง่าย อาจกลายเป็นโรคประสาทได้ เป็นต้น

ความเครียดนับว่าเป็นภัยต่อชีวิตอย่างยิ่ง เมื่อร่างกายและจิตใจได้รับความกระทบกระเทือนก็ย่อมส่งผลไปถึงประสิทธิภาพในการทำงาน ความสัมพันธ์กับครอบครัว และบุคคลอื่นย่อมตกต่ำ และขาดมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี

วิธีป้องกันและคลายความเครียด

  1. เมื่อรู้ตัวว่าเครียด ต้องหยุดนิ่ง เพื่อสงบสติอารมณืให้ได้เสียก่อน
  2. ถ้ายังควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ก็ต้องหางระบายออก เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด โดยทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ออกกำลังกาย ทำการงานให้เหนื่อย เล่นกีฬา การฟังเพลง ดูโทรทัศน์ หรือภาพยนต์ การเล่นดนตรี การทำงานอดิเรก การทำงานอดิเรก การทำงานศิลปะ งานประดิษฐ์ การปลูกต้นไม้ การอ่านหนังสือการ์ตูนขำขัน ฯลฯ
  3. ระบายความอึดอัดใจหรือความทุกข์กับคนที่คุ้นเคยหรือไว้วางใจ หรือปรับทุกข์กับคนใกล้ชิด เช่น คู่สมรส เพื่อนร่วมงาน ญาติ เป็นต้น
  4. ถอยออกจากสถานการณ์เพื่อตั้งหลัก คิดทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ หาทางแก้ไขด้วยวิธีต่าง ๆ หรือมองหาคนช่วยคิด เพื่อให้ความเครียดลดลง
  5. พักผ่อนหย่อนใจ หาความสนุกเพลิดเพลิน การท่องเที่ยว ชมธรรมชาติ หรือทำจิตใจให้สงบด้วยการสวดมนต์ ทำสมาธิ หรือฝึกผ่อนคลายความเครียดวันละ 2 ครั้ง ๆ ละ 10 นาที เช่น วิธีการฝึกการหายใจ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  6. นอนหลับให้เพียงพอ ควรหลับให้สนิท ไม่ใช่หลับ ๆ ตื่น ๆ การหลับสนิทจะทำให้ร่างกายจิตใจสดชื่น เมื่อตื่นนอน เป็นการผ่อนคลายความเครียดได้ดี
  7. ถ้ายังแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องหาทางเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิตใหม่ เปลี่ยนแปลงนิสัยและทัศนคติ เช่น ลดการแข่งขัน ผ่อนคลายความเข้มงวดลง รู้จักการรอคอย รู้จักการให้อภัย สิ่งเหล่านี้จะช่วยคลายความเครียดได้
  8. ถ้าได้ปฏิบัติมาทุกอย่างแล้ว แต่ยังปรับปรุงหรือแก้ไขไม่ได้แล้ว ก็ควรจะต้องไปขอคำแนะนำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาที่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไว้ก่อนจะสายเกินแก้ หรือปรึกษากรมสุขภาพจิต หากรู้สึกมีอาการซึมเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่ควรอยู่ตามลำพัง ควรรีบไปรับการรักษาจากแพทย์เป็นการด่วน