บัวสี่เหล่า คนสี่จำพวก

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ แถบฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตอุรุเวลาประเทศ ฯ
ครั้งนั้น ความปริวิตกแห่งพระหฤทัยบังเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคผู้เสด็จเข้าที่ลับ ทรงพักผ่อนอยู่อย่างนี้ว่า
ธรรมที่เราตรัสรู้แล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต
ก็หมู่สัตว์นี้แล ยังยินดีด้วยอาลัย ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ก็ฐานะนี้ คือ ความเป็นปัจจัยแห่งธรรมมีสังขารเป็นต้นนี้
เป็นธรรมอาศัยกันและกันเกิดขึ้น อันหมู่สัตว์ผู้ยินดีด้วยอาลัย ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย
จะพึงเห็นได้ยาก แม้ฐานะนี้ ก็เห็นได้ยาก คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง
ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอก ธรรมเป็นที่ดับ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม
แต่ชนเหล่าอื่นจะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความ
ลำบากของเราฯ
อนึ่ง ได้ยินว่า คาถาอันน่าอัศจรรย์ยิ่งนักเหล่านี้ ที่พระผู้มีพระภาคไม่เคยได้ทรงสดับมาแต่ก่อน เกิดแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคว่า
บัดนี้ เราไม่ควรจะประกาศธรรม ที่เราตรัสรู้แล้วโดยยาก ธรรมนี้ เหล่าสัตว์ผู้ถูกราคะโทสะครอบงำแล้ว จะตรัสรู้
ไม่ได้ง่าย เหล่าสัตว์ผู้ยินดีแล้วด้วยความกำหนัด ถูกกองแห่งความมืดหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันทวนกระแส ละเอียด
ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เป็นอณู ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาเห็นดังนี้ พระหฤทัยก็ทรงน้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ทรงน้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรม ฯ
ท้าวสหัมบดีพรหม ผู้สถิตอยู่ ณ พรหมโลก ทราบพุทธดำริ ทรงวิตกว่าพระพุทธองค์จะทรงละเลยกิจ
ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตได้ทรงปฏิบัติ คือ ทรงจะแสดงพระสัทธรรมโปรดหมู่เวไนยสัตว์ในภพทั้งหลาย
คือพรหมภูมิ สวรรค์ภูมิ มนุษย์ภูมิ ด้วยเมื่อพระโพธิสัตว์ทรงบรรลุธรรมแล้วจะทรงน้อมพระทัยไปสู่การเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
เหตุนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมจึงได้ชักชวนหมู่พรหมและทวยเทพในภพสวรรค์ เสด็จมาชุมนุมต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระบรมศาสดา
แล้วกล่าวคำทูลอารธนาให้ทรงแสดงธรรมว่า
พรัมมา จะ โลกาธิปะตี สะหัมปะติ
กัตอัญชะลี อันธิวะรัง อะยาจะถะ
สันธีธะ สัตตาปปะระชักขะชาติกา
เทเสตุธัมมัง อะนุกัมปิมังปะชัง
ซึ่งแปลว่า
ท้าวสหัมบดีพรหมผู้เป็นอธิบดีของโลก
กราบทูลวิงวอน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลายที่มีธุลี คือ กิเลสในดวงตาเบาบางยังมีอยู่ในโลกนี้
ขอพระองค์ทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์หมู่สัตว์นี้เถิด
พระพุทธองค์ทรงรำพึงถึงธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อนว่า เมื่อได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ย่อมแสดงธรรมโปรดแก่เหล่าสรรพสัตว์ทั้งปวง และทรงพิจารณาต่อไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณว่า จะมีผู้ใดเข้าถึงพระธรรมคุณที่ตรัสรู้ได้บ้างหรือไม่ ทรงเห็นว่า บุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางจำพวกสอนได้ บางจำพวกสอนไม่ได้
พระพุทธองค์ได้ทรงตรึกตรอง ทรงคำนึงว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ ลึกซึ้งมาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม จึงยังทรงมิได้รับคำทูลอารธนาทีเดียว แต่ได้ทรงพิจารณาโดยพระญาณก่อนว่า เวไนยสัตว์ นั้นจำแนกเหล่าที่จะรองรับพระสัทธรรมได้เพียงใด จำนวนเท่าใด ทรงจำแนกด้วยพระญาณว่าเหล่าเวไนยสัตว์บุคคลที่จะรับพระสัทธรรมได้และไม่ได้มีอยู่ ๔ จำพวก เปรียบได้ดังดอกบัวสี่เหล่า อันหมายถึง ปัญญา วาสนา บารมี และอุปนิสัย ที่สร้างสมมาแต่อดีตของบุคคล ซึ่งบัว ๔ เหล่านั้น คือ
บัวประเภทที่ ๑ ดอกบัวที่พ้นน้ำแล้ว รอแสงพระอาทิตย์จะบานวันนี้
บัวประเภทที่ ๒ ดอกบัวที่ปริ่มน้ำ จะบานวันพรุ่งนี้
บัวประเภทที่ ๓ ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ยังอีก ๓ วันจึงจะบาน
บัวประเภทที่ ๔ ดอกบัวที่เพิ่งงอกใหม่จากเหง้าในน้ำ จะยังไม่พ้นภัยจากเต่าและปลา
ซึ่งบัวแต่ละประเภทนั้นเปรียบได้ดังนี้
๑. อุคฆฏิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็วเปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำเมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
๒. วิปจิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติมจะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
๓. เนยยะ คือ พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธาปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
๔. ปทปรมะ คือ พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิแม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน
อันดอกปทุมานั้นมีหลายหลากต่างชนิดกันไป เหมือนดังเหล่าเวไนยสัตว์ที่จะได้รู้ธรรมนั้นเช่นกัน ทั้งผู้มีกิเลสมาก ผู้มีกิเลสปานกลาง ผู้มีกิเลสน้อยเบาบาง ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ฯลฯ
บุคคลที่เปรียบได้กับดอกบัวดอกที่ ๑, ๒, ๓ นั้นสามารถให้อนุศาสโนวาทแล้วสามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้เร็วช้าต่างกันก็ด้วยปัญญา วาสนา บารมี และอุปนิสัย ที่ต่างกัน ซึ่งจำแนกเป็น พุทธเวไนย์ สาวกเวไนย์ ธาตุเวไนย์ ตามลำดับ ส่วนบุคคลซึ่งเปรียบเป็นบัวประเภทที่ ๔ ไม่สามารถบรรลุอะไรได้ในชาตินี้ ด้วยขาดซึ่งปัญญา แต่จะเป็นอุปนิสัย วาสนา บารมีต่อไปในภายภาคหน้า เมื่อทราบด้วยพระญาณดังนั้นแล้ว ด้วยพระกรุณาคุณ ทรงเล็งเห็นว่าโลกนี้ผู้ที่พอจะรู้ตามได้ก็คงมีอยู่บ้าง เมื่อเล็งเห็นเหตุนี้ จึงตกลงพระทัยจะสอนธรรมให้แก่สัตว์ทั้งปวง จึงรับอารธนาของท้าวสหัมบดีพรหม
นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังได้ทรงแบ่งประเภทบุคคล เป็น 4 จำพวก คือ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนในโลกนี้มีอยู่ ๔ จำพวกเท่านั้น เมื่อว่าตามกฏแห่งกรรม คือ เมื่อพูดโดยย่อแล้วเหลือแค่ ๔ ประเภท ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ในคัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ ข้อ ๘๕ หน้า ๑๐๙-๑๑๐)
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้มีบุคคลอยู่ ๔ จำพวก คือ
(๑) ตโม ตมปรายโน คนมืดมามืดไป จำพวกหนึ่ง
(๒) ตโม โชติปรายโน คนมืดมาสว่างไป จำพวกหนึ่ง
(๓) โชติ ตมปรายโน คนสว่างมามืดไป จำพวกหนึ่ง
(๔) โชติ โชติปรายโน คนสว่างมาสว่างไป จำพวกหนึ่ง”