พระแก้วมรกต

ประวัติและคาถาบูชาพระแก้วมรกต
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือ วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกอ่อนเนไฟรต์สีเขียวดังมรกต เป็นพระพุทธรูปสกุลศิลปะก่อนเชียงแสนถึงศิลปะเชียงแสน หลักฐานที่ตรงกันระบุว่าพบครั้งแรก ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์วัดป่าญะ ตำบลเวียง เมืองเชียงราย (ปัจจุบันคือวัดพระแก้ว เชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย) ในปี พ.ศ. 1977 (หรือ ค.ศ. 1434) ฟ้าได้ผ่าลงองค์พระเจดีย์จนพังทลายลง จึงพบพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทอง จึงได้นำไปไว้ในวิหาร ต่อมาปูนบริเวณพระนาสิกเกิดกระเทาะออก เห็นเป็นเนื้อมรกต จึงกระเทาะปูนออกทั้งองค์ เห็นเป็นเนื้อหยกสีมรกตทั้งองค์
หลังจากนั้น พระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่ทราบข่าวการค้นพบพระพุทธรูปนี้ จึงเชิญมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ แต่ช้างทรงพระแก้วมรกตกลับไม่เดินทางไปยังเชียงใหม่ แต่ไปทางลำปางหากช้างนั้นมีพระแก้วมรกตอยู่บนหลังช้าง เชียงใหม่เห็นว่าลำปางก็อยู่ในอาณาจักรล้านนาจึงนำไปไว้ที่วัดพระแก้วดอนเต้า ถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช ได้เชิญพระแก้วมรกตมายังเชียงใหม่ สร้างปราสาทประดิษฐานไว้แต่ถูกฟ้าผ่าหลายครั้ง ครั้นเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งล้านช้างซึ่งเป็นญาติกับราชวงศ์ล้านนามาครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาเสด็จกลับหลวงพระบาง ก็เชิญพระแก้วมรกตไปด้วยพร้อมกับพระพุทธสิหิงค์ ทางเชียงใหม่ขอคืนก็ได้แต่พระพุทธสิหิงค์ เมื่อล้านช้างย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาเวียงจันทน์ก็เชิญพระแก้วมรกตลงมาด้วย ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบาง มาจากอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ (ลาว) ในครั้งนั้นประดิษฐานไว้ที่วัดอรุณราชวราราม ต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรลงบุษบกในเรือพระที่นั่ง เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงปัจจุบัน ส่วนพระบางได้คืนให้แก่ลาว
คาถาบูชาพระแก้วมรกต หรือ คาถาบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร 
เวลาสวดมนต์ กราบไหว้บูชาพระ ให้ระลึกถึงองค์พระแก้วมรกต
ตั้งนะโม 3 จบ
พุทธะ มะหามะณีระตะนะ ปะฏิมากะรัง ปูเชมิ
ทุติยัมปิ พุทธะ มะหามะณีระตะนะ ปะฏิมากะรัง ปูเชมิ
ตะติยัมปิ พุทธะ มะหามะณีระตะนะ ปะฏิมากะรัง ปูเชมิ
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ มะหาเตโช เจวะ มะหาปัญโญ
จะ มะหาโภโค จะ มะหายะโส จะ ภะวันตุ เม
นิพพานัสสะ ปัจจะโย โหตุ
คาถาแบบสั้น โดยตั้งนะโม ๓ จบ  แล้วตามด้วยคาถาว่า วาละลุกัง สังวาตังวา ( ๓ จบ)
ขอบคุณข้อมูล และรูปภาพจาก เว็บไซด์ wikipedia