หนังสือคาถาพาหุง คาถาแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์

หมายเหตุ : เว็บไซด์วีอาร์ดี.คอม ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียน แต่มีวัตถุประสงค์ต้องการเผยแผ่ประวัติ ที่มาของพระคาถาพาหุง และสนับสนุนให้ชาวพุทธทุกท่านร่วมกันสวดพระคาถาพาหุง โดยพิจารณาถึงหลักธรรมซึ่งซ่อนอยู่ในบทพระคาถานี้ และวีอาร์ดี.คอมขอขอบคุณที่มาของบทความ ได้แก่ : website ธรรมจักร  และศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต ผู้เขียนหนังสือ ทั้งนี้หากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ประการใดขอให้ท่านติดต่อวีอาร์ดี ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

พระคาถาพาหุง

คำนำ

          ปัจจุบันมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นในโลกทำให้ประชาชนต่างเกิดความวิตกกังวล และกลัวภยันตรายจะมาถึงตัวเอง ทำให้เสียขวัญและหมดกำลังใจในการดำเนินชีวิต

การสวดมนต์ ถือเป็นทางออกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทย และเป็นกิจวัตรประจำวันของชาวพุทธเพื่อระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และบำเพ็ญสมาธิไปพร้อมกัน ดังข้อความที่ปรากฏใน วิมุตตายนสูตร ว่า
“บางคนหมั่นสวดมนต์หรือสาธยายข้อธรรมที่ได้เรียนมา และขณะที่สวดมนต์ด้วยจิตเป็นสมาธินั้น เขาน้อมข้อธรรมมาปฏิบัติจนบรรลุถึงความพ้นทุกข์ได้”

อง. ปญ์จก. ๒๒/๒๖/๒๒

ความนำ

         ในคราวประชุมอนุกรรมการในคณะกรรมการจัดงานเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งกำหนดใน วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ มีการเสนอให้สวดมนต์ถวายพระพร ทางฝ่ายสงฆ์กำหนดจะ สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อมีงานทำบุญอายุของผู้ใหญ่ฝ่ายคฤหัสถ์จะระดม (คำนี้น่าจะเหมาะกว่ารณรงค์) ให้มีการทำวัตรสวดมนต์ บทสวดบทหนึ่งที่คิดว่าควรสวดต่อท้ายทำวัตรเช้า – เย็น ก็คือ พาหุง ว่ากันอย่างนั้น พาหุง คือ บทสวดว่าด้วยชัยชนะ ๘ ประการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงผจญกับผู้ที่ไม่ประสงค์ดี ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ แต่พระองค์ ก็ทรงเอาชนะได้อย่างราบคาบ วิธีการชนะของพระพุทะองค์เป็นชัยชนะที่ถูกต้องชอบธรรม ทรงใช้ ธรรมาวุธ มิใช่ศาสตราวุธ

บางท่านปรารภว่า บทสวดมนต์น่าจะสวดเป็นภาษาไทย จะได้ฟังรู้เรื่อง หลายท่านก็ว่า สวดเป็นบาลีน่ะดีแล้วจะได้ “ขลัง” ถ้าอยากรู้ว่าที่สวดๆ นั้นหมายความอย่างไร ก็ให้ไปหาอ่านเอาเอง จะดีกว่า
ถามว่า “จะหาอ่านที่ไหนล่ะ” นั่นสิครับ
ความจริง มีหนังสือสวดมนต์แปลฉบับหลวงเล่มหนึ่ง แต่ไม่ได้พิมพ์แพร่หลาย และ สำนวนแปลก็ต้อง “แปลไทยเป็นไทย” อีกที จึงพออ่านรู้เรื่องสำหรับชาวบ้านทั่วไป
เรื่องทำนองนี้ มิใช่เพิ่งจะมาคิดกันหลายต่อหลายท่านคิดกันมาแล้ว ขณะที่พวกเรากำลังนั่งฟังพระเจริญพระพุทะมนต์อยู่นั้น คุณขรรค์ชัย บุนปาน หันมากระซิบกับผมว่า “หลวงพี่น่าจะแปลบทสวดเหล่านี้ให้คนอ่านนะ จะได้รู้ว่าพระท่านสวดว่าอย่างไรบ้าง เอาตั้งแต่เริ่มพิธีจนจบเลย” ผมก็พยักหน้าตอบว่า “ก็ดีเหมือนกัน ว่างๆ จะขยับเสียที”
จนป่านนี้ ผม ก็ ยังไม่มีโอกาสขยับ เมื่อยังไม่ถึงขั้นนั้น วันนี้ขอแปลคาถาพาหุงและให้อรรถาธิบายประกอบมาลงให้อ่านไปพลางก่อน
เรื่องคาถาพาหุงนี้ ผมเคยแปลรวมพิมพ์เป็นเล่มมาก่อนแล้ว คราวนี้ขอแก้ไขดัดแปลงให้เป็นเรื่องเป็นราวกว่าเดิม เรียกว่าเป็น version ใหม่ก็แล้วกัน
คาถาพาหุง เรียกเป็นทางการว่า ชยมังคลอัฏฐกคาถา อ่านว่า “ชะยะมังคะละอัตถะกะคาถา” แปลว่า “คาถาว่าด้วยชัยชนะ ๘ ประการ อันเป็นมงคลของพระพุทะเจ้า” ที่เรียกกันติดปากว่า “คาถาพาหุง” เพราะขึ้นต้นด้วยคำว่า “พาหุง”
ความเป็นมาของคาถาพาหุงค่อนข้างสับสน บางท่านว่าน่าจะแต่งโดยนักปราชญ์ศรีลังกา เพราะพระลังกาสวดกันได้ทุกรูป บทสวดมนต์บางบทที่สวดกันแพร่หลายในเมืองไทยเช่น นโมการอัฏฐกคาถา หรือนโมแปดบท พระลังกาสวดไม่ได้ เพราะแต่งที่เมืองไทย ใช้สวดเฉพาะพระไทย (ไม่สากล) เมื่อคาถาพาหุงค่อนข้างจะ “สากล” จึงน่าจะแต่งโดยพระลังกา ว่ากันอย่างนั้น
เหตุผลนี้ฟังดู “หลวม” คือไม่จำเป็นต้องสรุปว่าแต่งที่ลังกาก็ได้ แต่งที่เมืองไทยนี่เองเมื่อแต่งดีและแต่งได้ไพเราะ พระลังกามาคัดลอกไปสวดย่อมเป็นไปได้ ทีอะไรๆ ก็มักจะอ้างลังกา อ้างพม่า ก็ เพราะไม่เชื่อว่า ปราชญ์ไทยจะมีปัญญาแต่งฉันท์ที่ไพเราะอย่างน ี้ด้วยเหตุนี้คัมภีร์ศาสนาหลายเล่มจึงมอบให้เป็นผลงานของพระลังกาและพระพม่าไป
มังคลัตถทีปนี ที่ พระสิริมังคลาจารย์ชาวเชียงใหม่แต่ง ก็ยังว่า เป็นฝีมือของพระพม่าเลยครับ คือกล่าวว่า พระสิริมังคลาจารย์ เป็นพระพม่ามาอยู่ที่ล้านนา อะไรทำนองนี้
บางท่านบอกว่า คาถาพาหุง แต่งที่เมืองไทย และแต่งมานานแล้วด้วย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โน่นแน่ะ ท่านผู้นั้นขยายความว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงรบชนะพระมหาอุปราชา แห่งพม่าแล้วพระนพรัตน์ วัดป่าแก้ว ได้ประพันธ์คาถาพาหุงนี้ถวายพระเกียรติ ในชัยชนะอันยิ่งใหญ่คราวนั้นว่าอย่างนั้น
ครั้นถามว่า “มีหลักฐานอะไรไหม” ท่านบอกว่า “เห็นในนิมิตตอนนั่งสมาธิ” เมื่อท่านว่าอย่างนี้ เราทำได้ก็แค่ “ฟัง” ไว้เท่านั้น จะเถียงว่าไม่จริง หรือรับว่าจริงก็คงไม่ได้ มีคำพูดฮิตอยู่ในปัจจุบันคือ “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่” วางท่าทีอย่างนี้ น่าจะเหมาะกว่ากระมังครับ
ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยเข้าร่วมกับ ฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ และทรงได้ส่งทหารไปสู่สงครามเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑นั้นพระองค์ทรงนำกองทัพสวดคาถาพาหุง พร้อมทั้งคำแปลที่ทรงพระราชนิพนธ์ เป็นวสันตดิลกเพื่อชัยชนะแห่งกองทัพไทย และฝ่ายพันธมิตร
ท่านอาจารย์กล่าวต่อไปว่า สถานที่ที่ทรงประกอบพระราชพิธีจะเป็นท้องสนามหลวง (ทุ่งพระเมรุ) หรือไม่ ไม่แน่ใจ กำลังหาหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ ท่านว่าอย่างนั้น
ฉันท์พระราชนิพนธ์บทนี้ ทรงนำเอา “ชยมังคลอัฏฐกคาถา” บทแรก (คือบทพาหุง) มาลงไว้ดัดแปลงตอนท้ายจากเดิม ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ เป็น ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะสิทธิ นิจจัง ข้อความมีดังนี้ครับ
พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินาชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะสิทธิ นิจจัง
ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุท
ธะวิสุทธะศาสดา
ตรัสรู้อนุตตะระสะมา
ธิ ณ โพธิบัลลังก์
ขุนมารสหัสสะพหุพา
หุวิชาวิชิตขลัง
ขี่คีริเมขละประทัง
คชะเหี้ยมกระเหิมหาญ
แสร้งเสกสราวุธะประดิษฐ์
กละคิดจะรอนราน
ขุนมารผจญพยุหะปาน
พระสมุททะนองมา
หวังเพื่อผจญวระมุนิน
ทะสุชิน(ะ)ราชา
พระปราบพหลพยุหะมา
ระเมลืองมลายสูญ
ด้วยเดชะองค์พระทศพล
สุวิมล(ะ)ไพบูลย์
ทานาทิธัมมะวิธิกูล
ชนะน้อมมโนตาม
ด้วยเดชะสัจจะวจนา
และนะมามิองค์สาม
ขอจงนิกรพละสยาม
ชยะสิทธิทุกวาร
ถึงแม้จะมีอริวิเศษ
พละเดช(ะ)เทียมมาร
ขอไทยผจญพิชิตผลาญ
อริแม้นมุนินทร.ฯ
คราวหน้าจะนำ “คำแปลพาหุง” พร้อมอรรถาธิบายประกอบมาลงให้อ่านจนจบครับ

……
จากหนังสือ คาถาพาหุง

คาถาแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์
ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

พระคาถาพาหุง

บทที่ ๑

           ผมได้ยกคำบาลีพร้อมคำแปล มาลงให้อ่าน เพื่อจะได้ทราบว่าบทสวดพาหุงนั้น มีความหมายอย่างไร คราวนี้มาเล่าเรื่องราวประกอบ พร้อมข้อสังเกตเพิ่มเติมเท่าที่สติปัญญาอันน้อยของผมจะทำได้ ผิดถูกอย่างไรเราไม่ว่ากันอยู่แล้วมิใช่หรือ หรือ จะว่าก็ไม่เป็นไร

คาถาพาหุง บทที่ ๑ ความว่า
           พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลังอุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมาะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

พญามารเนรมิตแขนตั้งพัน ถืออาวุธ
ครบมือ ขี่ช้าง ครีเมขละ พร้อมด้วยเสนามาร
โห่ร้องก้องกึก พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้
ด้วยธรรมวิธี มีทานบารมี เป็นต้น ด้วยเดช
แห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

           พากย์บาลีเฉพาะคำว่า ชะยะมังคะลานิ ฝ่ายพระธรรมยุตเปลี่ยนเป็น ชะยะมังคะลัคคัง
ให้เหตุผลว่าเพื่อให้ถูกไวยากรณ์ ผมว่าไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดขนาดนั้น ก็ได้ท่านผู้แต่งเองก็ใช่ว่าจะไม่รู้ไวยากรณ์ ท่านคงจงใจใช้อย่างนี้มากกว่า

           บางท่านก็สอนว่า ถ้าต้องการสวดให้ตัวเองให้เปลี่ยน ภะวะตุ เต เป็น ภะวะตุ เม นี่ก็ไม่จำเป็นต้อง “เห็นแก่ตัว” ปาน นั้นก็ได้ สวดให้คนอื่นตัวเองก็ได้อยู่ดี

เหตุการณ์แห่งชัยมงคลนี้เกิดขึ้นใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระบรมโพธิสัตว์ประทับขัดสมาธิ ผินพระพักตร์สู่ทิศตะวันออกตั้ง พระวรกายตรง ดำรงพระสติมั่น เจริญอานาปานสติภาวนา (พจนานุกรม ให้เขียน อานาปาณสติ แต่วงการพระท่านใช้ อานาปานสติมาตลอด) ตั้งพระปณิธานแน่วแน่ จะพยายามเพื่อบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณให้จงได้ แม้ว่า เลือดเนื้อและโลหิตจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตามที ก็จะไม่ยอมลุกขึ้นเป็นอันขาด

           เรียกว่าเอาชีวิตเข้าแลก ยอมตายใต้ต้นโพธิ์ ว่าอย่างนั้นเถอะ

           บัดดล พญามารนาม วสวัตตี ก็ปรากฏตัว ให้สังเกตชื่อ “วสวัตตี” แปลว่า “ ผู้ยังบุคคลอื่นให้ตกอยู่ในอำนาจ ” แสดงว่ามารตัวนี้มิใช่กระจอก เป็นเทพ (ผู้เกเร) ครองสวรรค์ชั้นสูงสุด สวรรค์ชั้นนี้นามว่า ปรนิมมิตวสวัตตี แบ่งเป็นสองแดน แดนหนึ่งมีเทพนามวสวัตตีเทพครอง อีกแดนหนึ่งเป็นแดนมารมีพญามารวสวัตตีตนนี้แหละเป็นผู้ครอง

           พญามารกลัวว่า พระโพธิสัตว์จะก้าวพ้นจากเงื้อมมือของตน จึงยกพลพหลพลโยธามาผจญ ตัวพญามารเองก็เนรมิตแขนพันแขนยังกะหนวดกุ้งถืออาวุธครบทุกมือ

           ขี่พญาช้าง นามครีเมขละ นำลิ่วล้อหน้าตาน่าสะพรึงกลัวมาล้อมพระองค์ ออกปากขับไล่ให้พระโพธิสัตว์ลุกจากบัลลังก์ (ที่นั่ง) อ้างว่า บัลลังก์นี้เป็นของมัน

           พระบรมโพธิสัตว์ตรัสว่า “ รัตนบัลลังก์ นี้เป็นของเรา พราหมณ์นามโสตถิยะ ให้หญ้ากุศะเรามา ๘ กำ เราเอามาลาดเป็นอาสนะ”

           “บัลลังก์นี้เป็นของข้า” พญามารกล่าวเสียงดัง แล้วหันไปขอเสียง สนับสนุนจากบริวารว่า “จริงไหมวะ”

“แม่นแล้ว เจ้านาย บัลลังก์นี้เป็นของเจ้านาย” เสียงลิ่วล้อตะโกนตอบ

           “เห็นไหมๆ ท่านลุกขึ้นเสียดีๆ ยกบัลลังก์ให้แก่ข้า อย่าให้ใช้กำลัง” มันขู่

           เมื่อพระบรมพระโพธิสัตว์ยืนยันว่าบัลลังก์เป็นของพระองค์ มันจึงซักว่า “ท่านมีพยานไหมล่ะ”

           พระองค์ทรงชี้ดรรชนีลงยังพื้นปฐพี ตรัสว่า “ขอให้วสุนธราเป็นพยาน” ทันใดนั้น นางวสุนธรา หรือ นางธรณีก็ปรากฏกายบีบมวยผมปล่อยกระแสธารไหลมาท่วมกองทัพพญามารจนพ่ายแพ้หนีไปในที่สุด

           มีพระพุทธรูปปางหนึ่งสร้างเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ ครั้งนี้ เรียกว่า “ปางมารวิชัย”(อ่าน “มา-ระ-วิ-ไช”แปลว่า ชนะมาร ถ้าอ่าน “มาน-วิ-ไช” แปลว่า มารชนะ) ชาวบ้านเรียกว่า “ปางสะดุ้งมาร”

           ที่มาของชื่อ “ปางสะดุ้งมาร” (ถ้าผมจำไม่ผิด) คือครั้งหนึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทะรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่ง พระพักตร์ไม่ค่อยสวย จึงรับสั่งว่า “องค์นี้ท่าจะสะดุ้งมาร”

           หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ จำเอาไปเขียนบรรยายพระพุทะรูปองค์นี้ตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ใครเข้าไปชมก็ได้เห็นและจดจำกันไปจนแพร่หลาย

           กว่าสมเด็จฯ จะทรงทราบภายหลังว่าที่พระองค์ตรัสเล่นๆ กลับมีผู้ถือเป็นจริงเป็นจังก็สายเสียแล้ว คนจำได้ติดปากแล้ว จึงปล่อยเลยตามเลย

           กระทั่งผู้จัดทำพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานยังบันทึกไว้เมื่อให้คำจำกัดความของคำมารวิชัยว่า “ผู้มีชัยแก่มาร คือพระพุทธเจ้า เรียกพระพุทธรูปปางชนะมารว่า พระมารวิชัย คือ พระนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาพาดพระเพลา พระปางสะดุ้งมาร ก็เรียก”

           ท่านอาจารย์ “ประสก” แห่งสยามรัฐร้องว่า ไม่เรียก ถ้าอยากเรียกให้เรียกว่า “ปางมารสะดุ้ง” อย่าเรียก “ปางสะดุ้งมาร”

           ดร.ไซเลอร์ ผู้สนใจคัมภีร์พระพุทะศาสนาคนหนึ่งถามผมว่าฉากพระพุทะเจ้าผจญมาร ทำไมมีงูมากมาย จิตรกรรมฝาผนังหลายแห่งเขียนให้พญามารและเสนามารมีงูพันกายบ้าง เลื้อยออกจากปาก ออกจากจมูกบ้าง จากรูหูทั้งสองบ้าง ดูจะเป็น “กองทัพงู” มากกว่ากองทัพมาร ในคัมภีร์ศาสนามีพูดถึงงูบ้างไหม

           นึกไม่ออกครับ เห็นแต่ในคัมภีร์รุ่นหลัง เช่น ปฐมสมโพธิสัมภารวิบาก และคัมภีร์ฝ่ายมหายาน คือ ลลิตวิสตระ (ลลิตพิสดาร) มีพูดถึงงูบ้าง แต่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมิได้พูดถึงงูบ้าง แต่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกมิได้พูดไว้

ศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี ราชบัณฑิต ผู้ล่วงลับ เคยบอกผมว่า งูเป็นสัญลักษณ์แทนกิเลส หรือความชั่วร้าย นี้เป็นแนวคิดที่ “สากล” ดังในคัมภีร์ไบเบิล ของคริสต์ซาตานที่มาหลอก อาดัม กับ อีฟใ ห้ละเมิดคำสั่งพระเจ้าก็มาในร่างงู งูกับมาร คือสิ่งเดียวกัน ภาพจิตรกรรมจึงวาดทั้งมารทั้งงู ก็เป็นคำพูดที่น่ารับฟัง

           ถ้าดูบทสวดจริงๆ ก็น่าจะมี “งู” อยู่ด้วยเพียงแต่เราไม่แปลว่างู เท่านั้นเอง (ขอให้ผู้รู้บาลีช่วยกันดูตรงนี้หน่อยครับ)

           อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง ที่แปลว่า “พร้อมทั้งเสนามารโห่ร้องก้องกึก” นั่นน่ะ ลองแยกศัพท์ดู อุทิตะ (เกิดขึ้น, โผล่ขึ้น),โฆระ (ย่อมาจาก โฆระวิสะ งูพิษร้าย), สะเสนะมารัง (พร้อมทั้งเสนามาร) ถ้าแยกอย่างนี้ก็จะได้คำแปลว่า “พร้อมทั้งเสนามารมีงูออกมาจากร่างกาย” แปลอย่างนี้ก็จะได้คำแปลว่า “พร้อมทั้งเสนามารมีงูออกมาจากร่างกาย” แปลอย่างนี้จะไม่ให้กองทัพมารกลายเป็นกองทัพงูได้อย่างไร ใช่ไหมครับ

           มาร ในที่นี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นมารจริงๆ ก็ได้ หากเป็นสัญลักษณ์แทนกิเลส (โลภ โกรธ หลง) พระโพธิสัตว์ผจญมาร ก็ คือ พระองค์ทรงพยายามเอาชนะกิเลสทั้งหลาย กว่าจะได้ชัยชนะก็เล่นเอาเหนื่อย ไม่แพ้รบทัพจับศึก ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต

           นางธรณี เป็นสัญลักษณ์แทนบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาแต่อดีตชาติ การอ้างนางธรณีเป็นพยานก็คือ ทรงรำลึกถึงความดีงามที่เคยทำมามากมายนั้นเอง เมื่อทำดีมามากปานฉะนี้แล้วจะยอมสยบแก่อำนาจฝ่ายต่ำ ก็ดุกระไรอยู่

           ทุกครั้งที่กราบไหว้พระปางมารวิชัย ให้รำลึกเสมอว่า กิเลสอันร้ายกาจดุจพญามารและกองทัพอันมหึมา พระพุทธองค์ทรงเอาชนะได้เด็ดขาด เราผู้เป็น “ลูกพระตถาคต” ควรดำเนินตามรอยยุคลบาทของพระองค์ คือ พยายามต่อสู้กับอำนาจฝ่ายต่ำเต็มความสามารถแม้ชนะเป็นครั้งเป็นคราวก็ยังดี

           ดีกว่าเป็นทาสของมารตลอดกาล

…………………………………………..
ข้อมูลประกอบ
พระพุทธรูปปางต่างๆ [ ] [ ]

พระคาถาพาหุง

บทที่ ๒

มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง
โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

อาฬวกยักษ์ผู้กระด้าง ปราศจาก
ความอดทน ดุร้าย สู้รบกับพระพุทธเจ้าอย่าง
ทรหดยิ่งกว่ามารตลอดราตรี พระจอมมุนีทรง
เอาชนะได้ด้วยขันติวิธีที่ทรงฝึกฝนมาดี ด้วย
เดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

          บทที่แล้วพระพุทธองค์ทรงสู้รบกับมาร มาคราวนี้ทรงสู้รบกับยักษ์ มารอาจหมายถึงมารจริงๆ คือ เทพเกเรที่ชอบมารังแกคน หรือ อาจหมายถึงกิเลสก็ได้ฉันใด ในที่นี้ ก็อาจหมายถึงยักษ์เขี้ยวโง้ง หรือเป็นภาษาสัญลักษณ์หมายถึงคนดุร้ายเผ่าหนึ่ง ในสมัยพุทะกาลก็ย่อมได้

          ไม่เพียงแต่ ยักษ์และมาร นาคที่ปรากฏในคัมภีร์ศาสนา ก็อาจเป็นภาษาสัญลักษณ์ เช่นกัน นาคปลอมมาบวช ตำราว่าเป็นพญานาคที่มีฤทธิ์ จำแลงกายเป็นคนได้ ตราบใดที่ยังมีสติอยู่ก็จะเป็นมนุษย์ แต่ถ้าเผลอสติ หรือหลับเมื่อใด ร่างนาคหรืองูใหญ่ก็จะปรากฏทันที

          พระหนุ่มนาคจำแลง นอนหลับใหลในเวลากลางวันในห้อง ร่างกลายเป็นงูใหญ่ขดอยู่เต็มห้อง พระรูปหนึ่งเปิดประตูเข้าไปเห็นเข้าร้องเสียงหลงด้วยความตกใจ พระนาคจำแลงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จึงแปลงร่างเป็นพระหนุ่มตามเดิม เรื่องรู้ถึงพระพุทะองค์ เธอเปิดเผยความจริงว่าเธอเป็นนาค (งูใหญ่) ปลอมมาบวชเพราะความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

          พระพุทธองค์ตรัสว่าเพศบรรพชิตไม่เหมาะสำหรับสัตว์เดรัจฉาน จึงให้เธอลาสิกขากลับไปสู่นาคพิภพตามเดิม ตรงนี้ ตำราในเมืองไทยแต่งต่อว่า นาคกราบทูลขอว่า “ไหนๆก็ไม่มีโอกาสบวชอยู่พระศาสนาต่อไปแล้ว ขอฝากชื่อไว้ด้วย ต่อไปภายหน้า ใครจะบวชก็ขอให้เรียกคนนั้น “นาค” เถิด” ว่าอย่างนั้น แต่ตำราเดิมไม่มีพูดไว้อย่างนี้

          นาค ในที่นี้ คงมิใช่งูใหญ่อะไรดอก คงหมายถึงมนุษย์ที่ยังด้อยพัฒนาเผ่าหนึ่งพระพุทะองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้บวช ว่ากันอย่างนั้น

          อาฬวกยักษ์นี้ก็คงทำนองเดียวกัน ลองอ่านประวัติความเป็นมาก่อนค่อยตั้งข้อสังเกตภายหลัง เรื่องมีดังนี้ครับ

          ในป่าลึกชายแดนเมืองอาฬวี มียักษ์อาศัยอยู่จำนวนมาก วันหนึ่งเจ้าเมืองอาฬวี มียักษ์อาศัยอยู่จำนวนมาก วันหนึ่งเจ้าเมืองอาฬวีไปล่าสัตว์พลัดหลงกับ ข้าราชบริพาน เข้าไปยังป่าลึกถูกพวกยักษ์จับได้ตั้งใจจะเอามาทำ สเต็กกินให้อร่อย เข้าเมืองกลัวตายจึงหาทางเอาตัวรอดโดยกล่าวว่า “ถ้าพวกยักษ์กินตนอิ่มเพียงมื้อเดียว ถ้าปล่อยตนไป ตนจะไปหาคนมาส่งให้กินทุกวัน ขอให้ปล่อยตนไปเถอะ”

          “จะเชื่อได้อย่างไรว่าจะไม่เบี้ยว” ยักษ์ถาม

          “ไม่เบี้ยวแน่นอนท่าน เพราะข้ามิใช่นายกเมืองสารขัณฑ์ ที่รับปากใครไปเรื่อยกระทั่งกับพระกับเจ้า แล้วก็ลืม ข้าเป็นถึงเจ้าเมือง อาฬวีย่อมรักษาสัจจะยิ่งชีวิต” เจ้าเมืองพูดขึงขัง

          โชคยังดี พวกยักษ์เชื่อ จึงปล่อยไป ท้าวเธอก็ส่งนักโทษประหารมาให้กินวันละคน จนกระทั่งนักโทษหมดคุก เมื่อหาใครไม่ได้ก็สั่งให้ดักจับเอาใครก็ได้ที่เดินอยู่คนเดียว มีคดีคนหายอย่างลึกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จน จส.๑๐๐ ของยักษ์ประกาศหาไม่หยุด สร้างความหวาดวิตกแก่ประชาชนทั้งเมือง

          พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณด้วย พระมหากรุณาธิคุณ อันยิ่งใหญ่ต่อชาวเมืองอาฬวี พระองค์จึงเสด็จไปหาอาฬวกยักษ์ หัวหน้าพวกยักษ์ในป่าอาฬวี บังเอิญอาฬวกยักษ์ไม่อยู่ พระองค์จึงเสด็จเข้าไปประทับ ณ ที่นั่งประจำตำแหน่งของแก

          อาฬวกยักษ์กลับมา พบพระพุทะองค์ประทับที่บัลลังก์ของตนก็โกรธเขี้ยวกระดิกทีเดียวตวาดด้วยเสียงดังฟังชัดว่า “สมณะโล้นมานั่งที่นั่งข้าทำไม ลุกขึ้นเดี๊ยวนี้”

          พระพุทธองค์ทรงลุกขึ้นอย่างว่าง่าย

          ยักษ์แกได้ใจ จึงออกคำสั่งอีกว่า “นั่งลง” พระองค์ ก็นั่งลง

          “ลุกขึ้น” สั่งอีก พระองค์ก็เสด็จลุกขึ้น

          “นั่งลง” พระองค์นั่งลงตามคำสั่ง

          ยักษ์เขี้ยวโง้งได้ใจ หัวร่อ ฮ่าๆ ที่เห็นพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของชาวโลกทำตามคำสั่งแกอย่างว่าง่าย

          ถามว่า “ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงทำตามยักษ์อย่างว่าง่าย”

          ตอบว่า “เป็นเทคนิควิธีสอนของพระพุทธเจ้า” พระองค์ทรงรู้อยู่แล้วว่า ยักษ์แกเป็นผู้ดุร้าย อารมณ์ร้อน ถ้าขัดใจแก แกก็จะโมโหจนลืมตัว ไม่มีช่องที่จะสอบอะไรได้ ถึงกล่าวสอนตอนนั้นแกก็คงรับไม่ได้ พระองค์จึงทรงเอาชนะความแข็งด้วยความอ่อน ดังคำพังเพยจีน (หรือเปล่าไม่รู้) “หยุ่นสยบแข็ง” หรือดังบทกวี (เก่า)บทหนึ่งว่า

          “ถึงคราวอ่อน อ่อนให้จริง ยิ่งเส้นไหม
เพื่อจะได้ เอาไว้โยง เสือโคร่งเฆี่ยน
ถึงคราวแข็ง ก็ให้แกร่ง ดังวิเชียร
เอาไว้เจียน ตัดกระจก เจียระไน”

          ยักษ์ถึงแกจะป่าเถื่อน ใช่ว่าแกจะไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้านั้น เป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นจำนวนมาก การที่แกสามารถสั่งให้คนยิ่งใหญ่ขนาดนั้นทำตามคำสั่งอย่างไม่ขัดขืน จึงทำให้แกภาคภูมิใจที่ปราบพระศาสดาเอกในโลกได้จิตใจจึงผ่อนคลายความดุร้ายลง สงบเยือกเย็นพอจะพูดกันด้วยเหตุผลรู้เรื่อง พระพุทธองค์จึงค่อยๆ สอนให้แกรู้ผิดชอบชั่วดี ยักษ์แกก็เข้าใจและรับได้อย่างเต็มใจ ในที่สุดก็รับเอาไตรสรณคมน์เป็นสรณะตลอดชีวิต

          พูดมาถึงตรงนี้ก็อยากฝากไปถึง ส.ส.ร. หรือฝ่ายที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญทั้งหลายด้วย นักการเมืองทั้งหลายก็ไม่ต่างกับ “อาฬวกยักษ์” ดอกครับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ลิดรอนสิทธิและอำนาจนักการเมืองไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินตั้งหลายครั้ง (“ยังกับเป็นนักโทษ” นักการเมืองอาวุโสท่านหนึ่งคำราม) ไม่ว่าจะเป็นการห้าม ส.ส. เป็น รัฐมนตรี หรือเรื่องคนแปดหมื่นคนไล่นักการเมืองได้ ล้วนแต่เป็นเรื่องใหญ่ สำหรับพวกอาฬวกยักษ์ทั้งนั้น ใจจริงแล้ว เขาไม่อยากรับดอก (นอกเสียแต่บางพรรคหวังหาเสียงก็กัดฟันพูดว่า เรายินดีรับ) ถ้าอยากจะให้พวกเขายอมรับอย่างเต็มใจ ก็ ควรใช้วิธีของพระพุทธเจ้า คือ พูดดีๆ กับเขา อย่าได้พูด ในทำนองดูถูกว่าปัญญาอ่อน ไดโนเสาร์ พวกถ่วงความเจริญ ฯลฯ หรือชี้นำว่าต้องรับร่างรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้วก็หมดหน้าที่ เป็นเรื่องของสภาเขาจะเอาหรือไม่เอา เมื่อสภาไม่เอา ก็ ตกมาถึงประชาชนตัดสินอยู่มิใช่หรือทำไม จะต้องมาปลุกกระแสตอนนี้ แจกธงเขียวอะไรนั่นผมว่าเชยตายห่า และถ้าพวกยักษ์เขาแจกธงแดงบ้างมิเป็นการประจันหน้ากันหรือครับ

          พวกยักษ์นั้น ต้องพูดดีๆ กับเขา แบบ พระพุทธเจ้าตรัสกับอาฬวกยักษ์ ไม่ควรปลุกม็อบชนม็อบ เพราะถ้ายักษ์เขาโมโหแล้ว เขาปลุกม็อบได้มากกว่าอีก บอกเขาไปด้วยความอ่อนน้อมสิครับ ว่าขอให้ท่านพิจารณาเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง ว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ดีกว่าฉบับเก่าไหม ถ้าดีกว่าก็โปรดรับเถิด ข้อบกพร่องที่มีเอาไว้แก้ไขภายหลังได้แค่นี้แหละทุกอย่างก็ราบรื่น

          อาฬวกยักษ์ ในที่นี้น่าจะเป็นมนุษย์กินคนเผ่าหนึ่ง ที่มีอยู่มากในชมพูทวีปสมัยโน้น เมื่อมนุษย์กินคนถือศีล ๕ สันติสุขมิได้เกิดแก่ชาวเมืองอาฬวีเท่านั้น หากรวมถึงเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วย

          เพราะฉะนั้น ชัยชนะของพระพุทะองค์ครั้งนี้จึงเป็นชัยชนะที่นำมาซึ่งสิริมงคลอย่างแท้จริง

พระคาถาพาหุง

บทที่ ๓

นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง
ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุเต ชะยะมังคะลานิ

พญาช้างชื่อ นาฬาคิรี ตกมัน
ดุร้ายยิ่งนัก ประดุจไฟป่า จักราวุธ และสายฟ้า
พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้ด้วยวิธีรดด้วยน้ำ
คือเมตตา ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

ต้นเหตุให้เกิดเรื่องนี้ก็คือ พระเทวทัตอดีตเจ้าชายหนุ่มแห่งโกลิยวงศ์ ตำนานฝ่ายเถรวาทว่า เป็นเชษฐาของพระนางยโสธราพิมพาแต่ฝ่ายมหายานว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระนางยโสธราพิมพา ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ เพราะคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทบางแห่งก็พูดในทำนองนั้น ดังเช่นเมื่อพระเทวทัตยื่นข้อเสนอ ให้พระพุทธองค์มอบสงฆ์ให้ท่านปกครองอ้าวว่า “บัดนี้ พระองค์ ทรงแก่เฒ่าแล้ว ขอจงมอบภาระดูแลสงฆ์แก่ข้าพระองค์เถิด”

ถ้าพระพุทธองค์ทรงเป็นสหชาติกับพระนางยโสธราพิมพา และถ้าพระเทวทัต เป็นเชษฐาของพระนางจริง พระเทวทัตก็ไม่น่าจะพูดว่า “พระองค์ทรงแก่เฒ่าแล้ว” ใช่ไหมขอรับแต่ช่างเถอะ อย่าปวดหัวกับประเด็นนี้เลยเชื่อตามมติฝ่ายเถรวาทไปก่อน พระเทวทัตออกบวชพร้อมกับเจ้าชายศากยวงศ์ และนายภูษามาลาแห่งศากยวงศ์นามว่า อุบาลี (เวอร์ซาเช่ แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ว่าเข้านั่น) รวม ๗ท่านด้วยกัน เพื่อนร่วมรุ่นที่ชื่อเสียงในเวลาต่อมานอกจากพระอุบาลี ก็มีพระอานนท์ พระอนุรุทธะ พระเทวทัต แรกเริ่มเดิมทีก็ดังในทางดี คือตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติจิตภาวนาจนกระทั่งได้ฌาน ได้ “โลกิยฤทธิ์” (ฤทธิ์ระดับโลกิยะ) คือเหาะเหินเดินหาวได้ หายตัวได้อะไรทำนองนี้ ฤทธิ์อย่างนี้เสื่อมได้ถ้าไม่รู้จักประคับประคองในทางที่ถูกซึ่งก็เป็นดังนั้นจริงๆ
ว่ากันว่าญาติโยมทั้งหลาย เวลาไปวัดก็จะนำสักการะไปถวายพระคุณเจ้าต่างๆ ที่ตนเคารพเลื่อมใส บ้างก็ถามว่า “พระคุณเจ้าสารีบุตรอยู่ที่ไหน พระคุณเจ้าโมคคัลลานะพระอานนท์ ฯลฯ อยู่ที่ไหน” แล้วก็นำเอาลาภสักการะไปถวายท่านเหล่านั้น น้อยรายจะถามถึงพระคุณเจ้าเทวทัตพระคุณเจ้านั่งนึกว่า ท่านเหล่านั้นหลายท่าน เป็นขัตติยกุมารออกบวช ไม่เห็นมีอะไรด้อยไปกว่าท่านเหล่านั้นแต่ทำไม ญาติโยมเวลานำอะไรมาวัด ไม่ถามถึงเราบ้าง มันน่าน้อยใจนัก เราต้องหาทางแสวงลาภสักการะให้มากกว่าท่านเหล่านี้ให้จงได้
เรียก “ปาปิจฉา” (ความปรารถนาลามก) ได้เกิดขึ้นในใจพระคุณเจ้าเทวทัตเสียแล้วละครับ เทวทัตคิดว่า เจ้าชายอชาตศัตรูมกุฎราชกุมาร สติปัญญาไม่แหลมคมนัก สามารถ “ล้างสมอง” ได้ง่าย ถ้าทำให้อชาตศัตรู เลื่อมใสได้ ก็จะเป็นทางมาแห่งลาภยศสรรเสริญแผนการอันเลวร้ายจึงเริ่มต้น
วันหนึ่ง ขณะเจ้าชายเสด็จประพาสสวนอุทยานแห่งหนึ่ง อยู่ๆ  พระเทวทัตก็ปรากฏตัวต่อหน้าพระพักตร์ ทำให้เจ้าชายตกใจและอัศจรรย์ใจไปพร้อมกัน ตกใจที่เห็นพระคุณเจ้ามีอสรพิษร้ายพันกายหลายตัว ไม่เห็นมันทำร้ายพระคุณเจ้าเลย และอัศจรรย์ใจที่พระคุณเจ้าอยู่ๆ ก็เหาะลงมาจากห้วง นภากาศ ทำได้อย่างไรมันน่า “งืด” แท้ พระคุณเจ้าบอกว่าอย่าตกพระทัยบพิตรอาตมาคือเทวทัต สาวกแห่งพระสัมมาสัมพุทะเจ้าว่าแล้วก็แสดงธรรมแด่เจ้าชายอชาตศัตรู จนกระทั่งท้าวเธอมอบตนเป็นศิษย์ก้นกุฏิ ถวายความอุปถัมภ์ในเวลาต่อมา ถึงตอนนี้พระคุณเจ้าเทวทัต ก็ร่ำรวยลาภสักการะมากมายก่ายกองเพราะเป็นพระอาจารย์ของมกุฎราชกุมารแห่งมคธรัฐ
ต่อมาพระเทวทัตก็ยุยง ให้อชาตศัตรูกำจัดพระราชบิดาชิงราชบัลลังก์ ทั้งๆ ที่ตนเองก็จะได้โดยชอบธรรมอยู่แล้ว เจ้าชายจับพระราชบิดาขังคุกให้อดอาหารจนสิ้นพระชนม์ ตอนหลังพระเจ้าอชาตศัตรูรู้ว่าถูกเทวทัตหลอกจึงสั่งตัดความอุปถัมภ์ที่เคยให้แก่พระเทวทัต
ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยพระเทวทัต จ้างนายขมังธนูไปยิงพระพุทธเจ้า แต่แผนการล้มเหลว จึงลงทุนปีนเขากลิ้งก้อนหินลงมาหมายทับ พระพุทธองค์ขณะประทับนั่งเข้าฌานสมาบัติอยู่ที่ถ้ำมัททกุจฉิ เชิงเขาคิชฌกูฏก้อนหินกลิ้งลงไปปะทะชะง่อนผา สะเก็ด หินกระเด็นไปต้องพระบาทพระพุทธองค์จนพระโลหิตห้อ  พระสงฆ์สาวกพากันนำพระพุทธองค์ไปให้หมอชีวก ถวายการรักษาพยาบาล ณ ชีวกัมพวัน
เหตุการณ์เหล่านี้ยังไม่ปรากฏต่อสาธารณะนัก คนทั่วไปยังไม่รู้ว่าเป็นแผนการของพระเทวทัตคือต้นเหตุการณ์กระทำอันเลวร้ายนี้แน่นอน
เช้าวันหนึ่ง ขณะพระพุทธองค์มีพระอานนท์โดยเสด็จ เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ในเมืองราชคฤห์
พญาช้างตกมันถูกปล่อยจากโรงช้างวิ่งทะยานออกสู่ถนนใหญ่มุ่งหน้ามาทางพระพุทธองค์ และพระอานนท์ ร้องเสียงโกญจนาท (เขาว่า ร้องแปร๋นๆ เสียงแหลมเล็กดุจเสียงนกกระเรียนการร้องของช้างจึงเรียกว่า “โกญจนาท”) มหาชนชาวเมืองวิ่งหนีอลหม่าน
พระอานนท์พุทธอนุชา เกรงภัยจะมาถึงพระพุทะองค์ จึงรีบกลับออกไปหมายสกัดพญาช้างตกมันไว้ ไม่คำนึงถึงชีวิตของตนเองทั้งๆ ที่ยังเป็นเสขบุคคล (เป็นพระโสดาบัน) ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา พอที่จะต่อสู้กับพญาช้างตกมันได้ พระพุทะองค์ตรัสเรียกพระอานนท์ให้ถอยกลับมา พระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ให้พญาช้างวิ่งเลี่ยงไปอีกทางหนึ่ง
ขณะนั้นเด็กน้อยคนหนึ่งถูกแม่ทิ้งไว้กลางถนน เพราะกลัวตายร้องไห้จ้าน่าเวทนายิ่ง พญาช้างเปลี่ยนเข็มจากพระอานนท์หันมาหมายกระทืบเด็กน้อยตายคาตีน  พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตาภินิหาร ดังหนึ่งทรงหลั่งกระแสธารอันเย็นสนิท ตกต้องจิตพญาช้างสาร ความดุร้ายเมามันพลันหายไปสิ้น
มันเดินเซื่องซึมเข้ามาหมอบแทบยุคลบาทยกงวงจบบนกระพองถวายอภิวาท พระศาสดาผู้ทรงยกพระหัตถ์ลูบกระพองมันเบาๆ แล้วมันก็ลุกเดินเชื่องช้ากลับยังโรงช้างเป็นที่อัศจรรย์
เสียงโจษจันกันไปทั่วว่า “นาคกับนาคชน กัน นาคหนึ่งปราบอีกนาคหนึ่งหมดฤทธิ์เป็นที่น่าอัศจรรย์”
นาคแรก หมายถึง “พระผู้ประเสริฐ”คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกนาคหนึ่งคือ “พญาช้างสาร” ที่เมามัน ชื่อนาฬาคิรี
“อาวุธ” ที่พระพุทธองค์ทรงใช้สู้กับพญาช้างตกมัน คือเมตตา ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาจิตอันแรงกล้า ที่พระองค์ทรงแผ่ไปต้องจิต พญาช้างทำให้มันคลายความดุร้ายลงฉับพลัน และเลิกคิดที่จะทำร้ายพระองค์ในที่สุด
แต่ผู้ที่ยังไม่เลิกคิดร้ายก็คือ พระคุณเจ้าเทวทัต เมื่อแผนการล้มเหลวจึงเข้าไปยื่นข้อเสนอห้าข้อ เช่น ให้พระอยู่โคนต้นไม้เป็นนิตย์ห้ามอยู่ในที่มุมที่บัง ห้ามฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต เป็นต้น พระพุทะองค์ไม่ทรงอนุญาตเพราะเห็นว่าเป็นการเข้มงวดเกินไป ขอให้เป็นความสมัครใจของบุคคลดีกว่า อีกอย่างชีวิตพระต้องอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ การจะเจาะจงว่าต้องฉันสิ่งนั้น ฉันสิ่งนี้ จะกลายเป็นคน “เลี้ยงยาก” ไป
เทวทัตเธอก็ได้ทีขี่แพะไล่ทันที กล่าวว่าตนเสนอข้อปฏิบัติให้พระเคร่งครัด พระพุทธองค์ผู้ตรัสสมอว่า สอนข้อปฏิบัติขัดเกลากลับไม่เห็นด้วย จึงประกาศแยกตัวจากคณะสงฆ์ (เรียกว่าทำ “สังฆเภท” ทำให้สงฆ์แตกกัน) มีพระบวชใหม่ไม่รู้ธรรมวินัยจำนวนหนึ่งตามไปอยู่ด้วย แต่ไม่นาน พระสารีบุตรไป “กล่อม” กลับมาตามเดิม
หลังจากนั้น เทวทัตก็ป่วยหนัก สำนึกผิดให้ศิษย์หามไปจะกราบขอขมาพระพุทะองค์   ยังไม่ทันเข้าประตูพระเชตวัน ก็ถูกแผ่นดินสูบดิ่งลงอเวจีเสียก่อน
จบเรื่องราวอันน่าเศร้าของพระผู้ตั้งใจปฏิบัติดีในเบื้องแรก แต่มาเสียคน เอ๊ย เสียพระในเวลาต่อมา เพราะลาภสักการะเป็นเหตุด้วยประการฉะนี้แล

พระคาถาพาหุง

บทที่ ๔

อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง
ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุเต ชะยะมังคะลานิ

โจรองคุลิมาล (โจรฆ่าคนเอานิ้ว
ทำพวงมาลัยแสนดุร้าย) ถือดาบเงื้อง่าวิ่งไล่ฆ่า
พระพุทธองค์สิ้นระยะทาง ๓ โยชน์ พระจอมมุณี
ทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ทางใจเอาชนะได้ราบคาบ
ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

        องคุลิมาล เดิมชื่อ อหิงสกะ มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างพิลึกพิลั่น เป็นพระสาวกรูปหนึ่งที่ได้รับยกย่องในฐานะที่เป็น “ผู้ต้นคดปลายตรง” คือ เบื้องต้นประพฤติผิดพลาดจนกลายเป็นโจร ต่อมาในช่วงท้ายแห่งชีวิตกลับเนื้อกลับตัว บวชเป็นสาวกพระพุทะเจ้าสำเร็จพระอรหัตตผล เป็น พระอรหันตขีณาสพ (หมดกิเลสทั้งปวง)

        ขณะที่บิดาของท่าน ซึ่งเป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ในพระราชสำนักได้ เกิดเหตุประหลาด คือ อาวุธในพระคลังแสงเกิดโชตนาการสว่างไสวไปทั่ว ท่านปุโรหิตแหงนดูท้องฟ้าเห็นดาวโจรลอยเด่นอยู่บนนภากาศ จึงกราบทูลว่า เด็กที่เกิดในเวลานี้จะเป็นมหาโจรลือชื่อ เมื่อกลับถึงบ้าน จึงรู้ว่าบุตรชายของตนเกิดในเวลาดังกล่าวพอดี

        ท่านปุโรหิตจึงกลับไปกราบทูลในหลวงให้ทรงทราบ และ ขอพระบรมราชานุญาต ให้กำจัดเด็กนั้นเสีย เมื่อพระราชาตรัสถามว่า “เป็นโจรราชสมบัติหรือโจรธรรมดา” ท่านปุโรหิตกราบทูลว่า “เป็นโจรธรรมดา” พระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร ท่านปุโรหิต จงเลี้ยงลูกของท่านให้ดีก็แล้วกัน”

        ปุโรหิตผู้เป็นพ่อจึงตั้งชื่อเพื่อ “แก้เคล็ด” ว่า อหิงสกะ แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียนใคร ตอนเด็กๆ ก็เป็นผู้ไม่เบียดเบียนใครจริงๆ เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย เรียนเก่ง บิดาจึงส่งไปศึกษาศิลปะวิทยาที่สำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา เด็กหนุ่มอหิงสกะ ขยันศึกษาเล่าเรียนเชื่อฟังคำสั่งสอนของอาจารย์ เป็นที่รักของอาจารย์มาก จนกระทั่งบรรดาศิษย์ร่วมสำนักอิจฉา

        พวกเขาจึงหาทางกำจัดอหิงสกะ โดยแบ่งเป็นพวกๆ ทยอยกันเข้าไปฟ้องอาจารย์ว่า “อหิงสกะไม่ได้ความอย่างนั้นอย่างนี้” ถูกอาจารย์ตะเพิดออกมาเป็นแถว แต่เมื่อพวกเธอพยายามใส่ไคล้อหิงสกะบ่อยเข้าอาจารย์ก็ชักจะเอนเอียงไปทีละเล็กละน้อย “ถ้าหากไม่มีมูล ทำไมศิษย์ทุกคนจึงพูดตรงกัน” อาจารย์นั่งคิดอยู่คนเดียวอย่างว่านั่นแหละครับ “น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน” สำมหาอะไรกับจิตใจอ่อนๆของปุถุชน เช่นศาสตราจารย์ (ผู้ไม่ปรากฏชื่อ) แห่งตักสิลาคนนี้เล่า ในที่สุดท่านก็เชื่อสนิทว่า อหิงสกะคิดประทุษร้ายตน ตามคำยุแยงตะแคงรั่วของบรรดาศิษย์ขี้อิจฉาตาร้อนทั้งหลาย

        อาจารย์จึงวางแผนกำจัดศิษย์ โดยออกอุบายให้ไปฆ่าคนเอานิ้วมือมาให้ครบหนึ่งพันอ้างว่า เพื่อประกอบพิธีประสิทธิ์ประสาทเคล็ดลับวิชาที่ไม่เคยถ่ายทอดให้ศิษย์คนใดเลยเมื่ออยากได้วิชา ศิษย์ผู้น่าสงสารก็จำต้องทำใหม่ๆ ก็คงลำบากใจมากที่ต้องฆ่าคน แต่พอฆ่าได้สองคนสามคนเข้า ก็ชินไปเอง ชั่วระยะเวลาไม่นาน เสียงลือเสียงเล่าอ้างก็กระฉ่อนไปทั่วว่า มีโจรเหี้ยมคนหนึ่งนามว่า “องคุลิมาล” ดักฆ่าคนที่ดงดิบแห่งหนึ่ง ฆ่าแล้วก็ตัดเอานิ้วมาทำพวงมาลัย เป็นทีหวาดกลัวของประชาชนมากจนไม่มีใครเดินผ่าน

        พระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องตัดสินพระทัย ยกกองทัพย่อยๆ ไปปราบเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชน มารดาของอหิงสกะ ทราบข่าวกลัวว่าบุตรชายของตนจะเป็นอันตราย จึงแอบหนีออกนอกเมือง มุ่งหน้าไปยังดงดิบที่ขุนโจรอาศัยอยู่เพื่อแจ้งข่าวให้ลูกทราบ พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยญาณ เกรงว่าองคุลิมาลจะทำมาตุฆาต (ฆ่ามารดา) เพราะมหาโจรมีจิตฟั่นเฟือนจำใครไม่ได้แล้ว พบใครก็จะฆ่าหมดจึงเสด็จไปดักหน้า

        องคุลิมาลเห็นพระห่มผ้าเหลือง ก็ดีใจที่ได้พบเหยื่อเป็นสมณะหรือไม่ ไม่สนใจ ขอแต่ให้ได้นิ้วครบพันก็แล้วกัน จึงถือมีดโกนอาบน้ำผึ้ง เอ๊ย ถือดาบวิ่งไล่พระพุทะองค์ทรงบันดาลฤทธิ์ให้มหาโจรวิ่งไม่ทัน ทั้งๆ ที่เสด็จดำเนินไปตามปกติ มหาโจรร้องว่า “หยุด สมณะ หยุด”

        “เราหยุดแล้ว แต่เธอยังไม่หยุด เราหยุดทำบาป แต่เธอยังทำบาปอยู่” พระสุรเสียง กังวานแว่วสัมผัสโสตประสาทจอมโจร

        เขาสะดุดกึก รู้สำนึกในความผิดของตนเอง จึงวางดาบเข้าไปถวายบังคมแทบพระยุคลบาท พระองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง จบพระธรรมเทศนาเขาได้กราบทูลขอบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์

        พระพุทะองค์ทรงนำองคุลิมาลกลับไปยังพระเชตวัน พอดีเวลานั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลยกกองทัพย่อยๆ ผ่านมาทางนั้น จะไปปราบโจร พระองค์เสด็จเข้าไปถวายบังคมพระพุทธเจ้าทำนองจะขอพรชัย ให้ได้ชัยชนะในการไปปราบมหาโจรครั้งนี้

        พระพุทะเจ้าตรัสถามว่า “ถ้ามหาโจรนั้นกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีมาบวชเป็นพระในพระธรรมวินัย
แล้ว พระองค์จะทรงเอาผิดเธอไหม” พระราชากราบทูลว่า “ถ้าเช่นนั้น เขาก็พ้นอาญาของแผ่นดิน”

        พระพุทะเจ้าทรงชี้พระดรรชนีไปยังพระหนุ่มผู้นั่งสงบอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า “นี้คือองคุลิมาล” พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตกพระทัย พระพุทธองค์ตรัสว่า “มหาบพิตรไม่ต้องกลัวบัดนี้องคุลิมาล เธอ “มีมือวางศาสตราแล้ว” (หมายความว่า เลิกทำร้ายหรือเบียดเบียนแล้ว)”

        บวชใหม่ๆ ท่าน องคุลิมาลบิณฑบาตแทนที่จะได้ข้าว กลับได้เลือดกลับวัดแทบทุกวันเพราะชาวบ้านจำได้พากันเอาก้อนอิฐก้อนหินขว้างจนท่าน ศรีษะแตกเลือดไหล แต่ก็จำต้องทนตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านพบสตรีมีครรภ์แก่ ท่านตั้งสัตยาธิษฐานทำให้สตรีนางนั้นคลอดบุตรอย่างง่ายดายและปลอดภัย คนทั้งหลายจึงหายหวาดกลัวท่าน เชื่อว่าท่านสามารถทำให้สตรีคลอดบุตรได้ง่ายกลายเป็น “เกจิอาจารย์ดัง” ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ว่าอย่างนั้นเถอะ

        คำอธิษฐานของท่านมีบันทึกไว้ในหนังสือสวดมนต์เจ็ดตำนาน และสวดมนต์สิบสองตำนาน เรียกว่า “อังคุลิมาลปริตร” เชื่อกันว่าเป็น บทสวดมนต์ทำให้คลอดลูกง่าย

        พระสงฆ์นิยมนำมาสวดในงานทำบุญของชาวพุทะมาจนปัจจุบันนี้

พระคาถาพาหุง

บทที่ ๕

กัตวานะ กัฎฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา
จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

นางจิญจมาณวิกา (สาวิกาพวกนิครนถ์)
เอาไม้กลมๆ มาผูกท้อง ทำอาการ
ประหนึ่งว่ามีครรภ์ ใส่ร้ายพระพุทะเจ้า
ท่ามกลางฝูงชน พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้
ด้วยวิธีสงบระงับพระหฤทัยอันงดงาม ด้วย
เดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

         การผจญภัยครั้งนี้ของพระพุทะองค์เป็นเรื่องใหญ่ยิ่ง เพราะทรงผจญกับข้อกล่าวหาเรื่อง “มารหัวขน” เรื่องของเรื่องก็มีว่า หลังจากพระพุทะองค์ทรงประกาศพระพุทธศาสนา ไม่นานก็มีผู้เลื่อมใสออกบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนามากขึ้น พวกอัญเดียรถีย์ (นักบวชลัทธิอื่น) ต่างก็เดือดร้อน ไปตามๆกัน

         ว่ากันว่าศาสนาที่เป็นคู่แข่งกับพระพุทธศาสนาคือศาสนาเชน หรือลัทธินุ่งลมห่มฟ้า (ต่อมามีพวกนุ่งขาวห่มข่าวด้วย) ศาสนาเชนมีศาสดานามว่า มหาวีระ แต่คัมภีร์พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเล็กน้อย มหาวีระ หรือนิครนถ์นาฏบุตร เป็นขัตติยกุมารแห่งเมืองไพศาลีออกบวช (ตำราพุทธบอกว่าเป็นบุตรนักฟ้อน) บำเพ็ญเพียรอย่างเข้มงวดจนได้ตรัสรู้ แล้วก็เผยแพร่ศาสนามาก่อน พระพุทะเจ้าออกประกาศพระพุทธศาสนา

         ศาสนาเชนเน้น “อัตตกิลมถานุโยค” (การทรมานตนอย่างเข้มงวด) เชื่อกันว่าถ้าทรมานให้ร่างกายลำบากกิเลสก็จะเหือดแห้งไปชีวิตของพระเชน จึงไม่มีวัตถุสิ่งของในครอบครองแม้กระทั่งผ้าผ่อน ก็ไม่ต้องมี เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ยึดมั่นถือมั่น

         เวลาจะเดินไหนมาไหน ก็เอาไม้กวาดกวาดนำทางก่อน แล้วค่อยๆ ย่องๆ ดุจนกกระยาง ด้วยเกรงว่าจะเผลอเหยียบสัตว์ตาย

         เอาผ้าขาวปิดปากปิดจมูก ไม่ใช่เพื่อป้องกันมลพิษ อย่างตำรวจจราจรเมืองไทยหากแต่กลัวว่าเวลาหายใจอาจสูดเอา จุลินทรีย์ สัตว์เล็กสัตว์น้อยเข้าไปตาย จะเป็นบาปโดยไม่รู้ตัว

         เวลากินข้าว พระเชนจะหันหน้าเข้าข้างฝาไม่ให้ใครเห็น ไม่เช่นนั้นจะ “เสียวัตร” คือทำให้ปฏิบัติมัวหมอง

         เวลาพระเชนไปไหนมาไหน จะเดินอย่างเดียว ปฏิเสธพาหนะทุกชนิด ถือแส้กับพัดเท่านั้นโทงเทงๆ น่าตื่นตาตื่นใจของผู้พบเห็น ไม่แพ้นายแบบนางแบบนู๊ดของ คุณนิวัติ กรองเพียร แต่ปัจจุบันภาพอย่างนี้หาดูได้ยากแล้ว

         พวกอัญเดียรถีย์วางแผนดิสเครดิตพระพุทธเจ้าโดยให้สาวิกาสาวสวยชื่อจิญจา หรือ จิญจมาณวิกาไปดำเนินการ นางใช้เวลาระยะหนึ่งเข้าเดินออกพระเชตะวันมหาวิหาร

         ตอนเช้ามืดเวลาชาวเมืองเดินออกนอกเมืองทำธุรกิจการงาน นางจิญจาก็จะเดินเข้าเมืองเมื่อเขาถามว่า “นางอยู่ที่ไหน” ก็ตอบว่า “เรื่องของข้า” เวลาค่ำ เมื่อประชาชนต่างพากันกลับเข้าเมือง นางก็เดินออกนอกเมือง สวนทางกับพวกเขา เมื่อพวกเขาถามว่า “นางจะไปไหน” ก็ตอบว่า “เรื่องของข้า

         ทำอย่างนี้สักระยะหนึ่ง เมื่อถูกถามบ่อย จึงตอบว่า “ฉันอยู่วัดจ๊ะ”

         “อยู่วัด น่ะ อยู่ส่วนไหนของวัด” ชาวบ้านซักเพราะรู้ว่าพระเชตะวันนั้นเป็นที่อยู่ของสงฆ์ล้วน

         “ก็พระพุทธเจ้าของพวกท่าน อยู่ที่ไหน ก็นั่นแหละจ๊ะ” นางตอบยิ้มละไม
นางบอกว่า ข้านะหรือ ชื่อจิญจิ

สำนักนิ  เนานิเวศ  เขตสถาน
ร่วมกุฎิ์กับ  สัมพุทธ  วิสุทธิญาณ
โดยสถาน  ภริยา  ตถาคต

         คนเราลงหน้าด้านไม่กลัวบาปแล้ว ย่อมทำได้ทั้งนั้น ดูนางจิญจานี้เป็นตัวอย่างแผนการของนางดำเนินไปเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่สร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นกับประชาชนทีละนิดๆ ค่อยแย้มออกมา จนกระทั้งประกาศชัดเจนว่า ฉันนี่แหละคือคู่ชีวิตของศาสดาของพวกท่านล่ะ

         เพื่อให้สมเหตุสมผลยิ่งขึ้นเธอก็หาไม้กลมๆ มาผูกท้องเอาผ้าพันใส่ชุดทรงกุมารให้คนรู้ว่ามีครรภ์ วันหนึ่งขณะพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมท่ามกลางประชาชนจำนวนมาก นางจิญจามาณวิกาก็เดินอุ้ยอ้ายฝ่าฝูงชนเข้ามาทีเดียว

         “เสด็จพี่ ดีแต่เทศนาโปรดคนอื่น ทีภรรยาท้องแก่ จวนคลอดแล้วไม่เห็นไยดีเลย จะฝากท่านอนาถบิณฑิกะ หรือคุณแม้ถ้วน เอ๊ย นางวิสาขาช่วยดูแล หรือจะทำอย่างไร ก็รีบๆ จัดการเสียเถิดค่ะ”

         เอาละซิครับ พุทธบริษัทตกตะลึงจังงังดุจดังผีหลอกกลางวันแสกๆ พวกปุถุชนใจเบาชักไขว้เขวแล้วสิ ส่วนพวกบัณฑิตใจหนักแน่นใคร่ครวญด้วยเหตุด้วยผลแล้วรู้ทันทีว่าเรื่องนี้น่าจะมีเลศนัยอะไรแฝงอยู่ จึงไม่ปลงใจเชื่อ

         พระพุทธองค์ประทับนั่งสงบ ตรัสเบาๆ “น้องหญิง ที่เจ้าพูดนั้นจริงหรือเท็จ เราสองคนเท่านั้นที่รู้”

         “ใช่สิ ๆ เรื่องอย่างนี้จะให้ใครเขารู้ได้ยังไง” นางเสริมทันที

         “แล้วเรื่องสถานที่คลอดจะว่ายังไง จะให้ใครช่วยเป็นธุระจัดการให้เล่า เสด็จพี่” นางรบเร้า

         พระพุทะเจ้าทรงแสดงธรรมต่อ ดังหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้ นางจิญจมาณวิกาโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง เต้นเร่าๆ อย่างลืมตัว ว่ากันว่าขณะนั้นพระอินทร์จอมเทพ ทนดูพฤติกรรมต่ำช้าของนางไม่ได้ จึงบันดาลให้ท่อนไม้ที่ผูกท้องอยู่หลุดลงมา

         แผนการชั่วร้ายก็เลยแตก ถูกประชาชนไล่ออก จากพระเชตวัน แผ่นดินก็ดูเหมือนจะทนไม่ได้เช่นกัน จึงสูบร่างนางหายไปต่อหน้าต่อตาประชาชนจำนวนมาก

         ตรงนี้ถ้าแปลความธรรมดาๆ ก็คือนางถูกประชาชนไล่กระทืบตายคาเท้านั่นเองมนุษย์อุบาทว์จัญไรอย่างนี้ เทวดาฟ้าดินไม่ยอมให้ตายดีดอกครับ

         หลังจากสาวิกาคนสวยตายไปแล้ว พวกอัญเดียรถีย์ก็ไม่เข็ด วางแผนกำจัดพระพุทะองค์อีก โดยจ้างนักเลงฆ่าสาวิกาของพวกตนชื่อนางสุนทรี แล้วเอาศพไปทิ้งไว้หน้าพระเชตวัน ทำนองให้เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าและสาวกเป็นคนฆ่า

         ต่อมาพวกโจรที่ถูกจับได้ซัดไปยังผู้บงการผู้บงการ คือ อัญเดียรถีย์ระดับนำ เลยต้องรับอาญาบ้านเมืองไปตามระเบียบ

พระคาถาพาหุง

บทที่ ๖

สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง
วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

สัจจกนิครนถ์ผู้ถือตัวว่าฉลาด
เป็นนักโต้วาทะชั้นยอด สละเสียซึ่งสัจจะ
ตั้งใจมาได้วาทะหักล้างพระพุทธองค์ เป็นคน
มืดบอดยิ่งนัก พระจอมมุนีผู้สว่างจ้าด้วย
“แสงปัญญา” ทรงเอาชนะได้ ด้วยเดชแห่ง
ชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

          การชนะครั้งนี้เป็นการชนะด้วยวาทะเป็นเรื่องของการใช้ปัญญา หักล้างกันด้วยเหตุด้วยผลแท้จริง ดังได้เคยกล่าวมาบ้างแล้วว่า

          ศาสนาที่เป็นคู่แข่งกับพระพุทธศาสนา ที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาบันทึกไว้คือศาสนาเชน ของมหาวีระ สาวกระดับนำของศาสนานี้มักจะหาทางเอาชนะพระพุทธองค์ทุกคน ไม่ว่าสีหเสนาบดี หรืออุบาลีคหบดีทำเอามหาวีระ (นิครนถ์นาฏบุตร) กระอักโลหิตมาแล้ว

          สัจจกะนิครนถ์คนนี้ก็เป็น “มือวางอันดับหนึ่ง” ของลัทธิเชน เทียบกับสมัยนี้ก็คือนักวิชาการ “แสนรู้” ที่คิดว่าตนรู้มากกว่าใครในหล้าคนอื่นโง่ไปหมด อะไรทำนองนั้นสัจจกะแกจบไตรเพท จบปรัชญาชั้นสูง เป็นผู้ถึงสุดยอดแห่งวิชาการศาสนาของตนแล้ว แกจึงภาคภูมิใจในความเป็นผู้รู้ของตน แกจะเอาเข็มขัดเหล็กมาคาดพุงไว้ ดังหนึ่งคนเป็นโรคปวดหลังเอาสเตย์ ( Stay ) รัดพุงยังไงยังงั้น แกคงคิดว่าพุงเป็นที่เก็บสติปัญญาอันล้ำเลิศกระมัง จึงรัดเข็มขัดเหล็กเส้นเบ้อเร่อไว้กันสติปัญญาหล่นหาย

          คิดเอาก็แล้วกัน คนที่คิดว่าสติปัญญาอยู่ที่พุง จะเป็นคนฉลาดได้อย่างไร ที่แท้ก็คนโง่อวดฉลาดนั่นเอง เพราะเหตุนี้แหละคาถาพาหุงจึงจึงบรรยายลักษณะ ของสัจจกะว่า อติอันธภูตัง (คนมือบอดอย่างยิ่ง โง่งมงายอย่างยิ่ง)

          สัจจกะรู้ว่าพระพุทะเจ้ามีคนเคารพนับถือมาก มีผู้เลื่อมใสศรัทธามาบวชเป็นสาวกจำนวนมาก รวมทั้งเพื่อนร่วมศาสนาของตนหลายคนด้วย ก็ร้อนใจว่า ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอยู่อย่างนี้ ไม่ช้าศาสนิกของศาสนาตนก็ร่อยหรอ พระเชนทั้งหลายก็จะถูกดับรัศมี ดังหนึ่งหิ่งห้อยท่ามกลางแสงจันทร์ฉะนั้น จึงอาสาไปโต้วาทะกับพระพุทะองค์ให้รู้ดำรู้แดงกันเสียที

          เข้าใจว่า การประกาศโต้วาทะกับพระพุทะเจ้าครั้งนี้ คงได้รับฉันทานุมัติจากมหาวีระ (นิครนถ์นาฎบุตร) เป็นที่เรียบร้อยแล้วมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งมหาวีระไม่เคยออกมาเผชิญหน้ากับพระพุทะองค์เลย หลบเลี่ยงตลอดส่งแต่สาวกมือดีมาโต้ ที่เป็นเช่นนี้ สันนิษฐานได้ ๒ ประการคือ

          – มหาวีระอาจถือว่าตนเป็นศาสดา อาวุโสดีกว่า เก่งกว่าพระพุทะเจ้าก็ได้ จึงไม่ยอม “ลดตัว” ลงมาหาพระพุทธเจ้า (คนเรามีสิทธิ์คิดนะครับ มณฑก (คางคก) ยังทำ “เทียบท้าวราชสีห์” หรือหมูยัง “เห็นสีหราชท้าชวนรบ” ได้นี่ครับ แล้วทำไมศาสดามหาวีระจะไม่มีสิทธิ์คิดว่าตนเก่งกว่าพระพุทธเจ้าเล่า)

– มหาวีระคงรู้ตัวว่าตนเองสู้พระพุทธเจ้าไม่ได้ ถ้าหากมาโต้วาทะกับพระพุทธเจ้าแล้วแพ้ ตนจะเอาหน้าไปไว้ไหน สาวกทั้งหลายอาจเลื่อมศรัทธาหมด ทางที่ดีก็เลี่ยงๆ ไว้ก่อนเป็นดีที่สุด

          จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เป็นอันว่าศาสดาของสองศาสนานี้ ไม่เคยเผชิญหน้ากันเลยมีแต่ สาวกมือดีอย่าง สัจจกะนิครนถ์นี้แหละกำแหงมาตอแยพระพุทธเจ้า

          เข้าใจว่าเรื่อง สัจจกะนิครนถ์ประกาศจะโต้วาทะหักล้างพระพุทะองค์คงเป็นข่าวใหญ่ ถ้าเป็นสมัยนี้ ก็ คงลงข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ยักษ์แทบทุกฉบับ ทีวีแทบทุกช่อง วิทยุแทบทุกคลื่น เสนอข่าวกันครึกโครมเป็นที่รับรู้กันทั่วไป ชาวชมพูทวีปสมัยโน้น เป็นคนชอบแสวงหาสติปัญญาแสวงหาแนวทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามสำหรับตน เรื่องประเทืองปัญญาอย่างนี้ คงไม่พลาดแน่ๆ

          วันแห่งการรอคอยก็มาถึง ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ทีป่ามหาวัน นอกเมืองไพสาลี แห่งแคว้นวัชชี พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ป่ามหาวันนี้เป็นที่สงบสงัด พระพุทะองค์มักเสด็จมาประทับเสมอ พวกกษัตริย์ลิจฉวี เมื่อทราบว่าพระพุทะองค์เสด็จมาประทับที่นี่ ก็มักจะพากันมาเฝ้าฟังธรรมมิได้ขาด

          มหาชนจำนวนมากได้ติดตามสัจจกะนิครนถ์ไปป่ามหาวัน เพื่อฟังการโต้วาทะระหว่างพระพุทธเจ้ากับสัจจกะนิครนถ์ ป่ามหาวันอันกว้างใหญ่ไพศาลก็ถึงกับคับแคบลงมาถนัดตาเพราะเต็มไปด้วย “แขกมุง” ผู้อยากรู้อยากเห็นทั้งหลาย

          เนื้อหาที่โต้กันนั้นมีบันทึกไว้ในจูฬสัจจกสูตร และมหาสัจจกสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒เกี่ยวกับเรื่อง อัตตา (ตัวตน) และ อนัตตา (มิใช่ตัวตน, ไม่มีตัวตน) และเรื่องเกี่ยวกับการฝึกฝนกายและจิต

          เฉพาะในเรื่องอัตตาและอนัตตานั้นสัจจกะนิครนถ์เชื่อมั่นว่า มี “อัตตา” (ตัวตน) และอัตตาตัวนี้เป็นภาวะ “สัมบูรณ์” หรือ Absolute ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่พระพุทะเจ้าตรัสอธิบายว่า ขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็น “อนัตตา” (มิใช่ ตัวตนและไม่มีตัวตน)

          การอธิบายของพระพุทธองค์ทรงใช้วิธีถามให้สัจจกะตอบ ค่อยตะล่อมเข้าหาจุด เช่นตรัสถามว่า “กษัตริย์ย่อมมีอำนาจในการสั่งริบทรัพย์สั่งจองจำ สั่งฆ่าผู้ที่มีความผิดใช่หรือไม่ (ใช่) กษัตริย์ทีมีอำนาจเด็ดขาดเช่นนี้ จะสั่งให้รูป (หนึ่งในขันธ์ ๕) ว่า จงเป็นอย่างนี้อย่าเป็นอย่างนั้นได้ไหม (ไม่ได้) สั่งให้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จงเป็นอย่างนี้ อย่าเป็นอย่างนั้นได้ไหม (ไม่ได้)”

          ทรงถามไปทีละข้อๆ อย่างนี้ สัจจกะก็ยอมรับว่า ไม่มีอำนาจให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้วพระองค์ก็ตรัสสรุปว่า ที่ท่านว่าขันธ์ ๕ เป็น “ตัวตน” นั้นผิดแล้ว เพราะถ้ามันเป็นตัวตนของเราจริง เราก็น่าจะบังคับบัญชามัน และสั่งให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ความจริงขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน และไม่มีตัวตน

          สัจจกะจำนนด้วยเหตุผล ยอมรับว่าตนเข้าใจผิด คัมภีร์บันทึกว่าสัจจกะนิครนถ์ ผู้ถือตนว่าฉลาด ถูกพระพุทะเจ้าปราบสิ้นพยศนั่งจ๋องดุจปูถูกหัก “ก้าม” และ “กรรเชียง” คลานกลับสู่สระน้ำไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

          สัจจกะ นิมนต์พระพุทธเจ้าไปเสวยภัตตาหาร ที่บ้านของตนและประกาศตนเป็นสาวกของพระพุทธองค์แต่ บัดนั้น

พระคาถาพาหุง

บทที่ ๗

นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง
ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

พญานาค ชื่อนันโทปนันทะ ผู้มี
ความรู้ผิดมีฤทธิ์มาก พระจอมมุนี ทรงมี
พุทธบัญชาให้พระโมคคัลลานะพุทธโอรส ไป
ปราบด้วยวิธีแสดงฤทธิ์ที่เหนือกว่า ด้วยเดช
แห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคล จงมีแก่ท่าน

          คราวนี้ทรงเอาชนะพญานาคราช ซึ่งพอเอ่ยคำว่า “นาค” ก็นึกไปถึงพญางูใหญ่ ที่มีพิษร้ายขึ้นมาทันที งูใหญ่มันมาทำอะไรให้จึงต้องปราบ ก็เป็นปัญหาคาใจผู้ศึกษาพระพุทะศาสนาไม่น้อย ฤาว่า “นาค” ในที่นี้มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง มิได้แปลตามตัวอักษร เรื่องนี้ค่อยว่ากันตอนท้าย ตอนนี้ขอเล่าประวัติความเป็นมาก่อนแล้วกัน

          ว่ากันว่า สมัยหนึ่งพระพุทะเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญาล้วน เสด็จไปโดยนภากาศด้วยอำนาจอิทธิปาฏิหาริย์แห่งฌานสมาบัติ จนลุถึงถิ่นที่อยู่แห่งพญานาคนามว่า นันโทปนันทะ

          นันโทปนันทะ และบริวารกำลังพักผ่อนสำเริงสำราญอยู่ในสถานที่อยู่ของตน เห็นพระพุทะองค์พร้อมภิกษุจำนวนมาก เหาะข้ามศรีษะ ของตนก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ

          “สมณะโล้นพวกนี้ถือดีว่ามีอิทธิฤทธิ์เหาะเหินเดินหาวได้ เหาะข้ามศรีษะเรา ปล่อยผงธุลีจากเท้าหล่นต้องศรีษะเรา เดี๋ยวจะเห็นดีกัน”

          ว่าแล้วแกก็ใช้อิทธิฤทธิ์บันดาลให้เกิดหมอกควันมืดฟ้ามัวดิน ดุจดังกลุ่มหมอกควันพิษจากไฟป่าอินโดนีเซีย อะไรทำนองนั้นแหละครับ

          พระเถระนามว่า รัฐปาละ พระอรหันต์ทรงอภิญญารูปหนึ่ง กราบทูลอาสาไปปราบพญานาคอันธพาลตัวนี้ พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ตรัสว่า

          “หน้าที่นี้เป็นของโมคคัลลานะ บุตรตถาคตอยู่แล้ว เธอจะรู้เองว่าควรทำอย่างไร”

          พระโมคคัลลานะ ทราบว่า พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์ให้ท่านไปปราบพญานาค จึงนิรมิตกายเป็นพญานาค เหมือนกัน แต่รูปร่างใหญ่และยาวกว่านันโทปนันทะหนึ่งเท่า รัดร่างนันโทปนันทะกับเขาพระสุเมรุ

          พญานาคจะดิ้นอย่างไร ก็ไม่หลุด ยิ่งดิ้นยิ่งถูกรัดแน่นเข้าๆ จนในที่สุดต้องยอมแพ้แต่โดยดี จำแลงกายเป็นมาณพน้อยรูปหล่อ (พ่อรวยหรือไม่ ไม่แจ้ง) ยืนประคองอัญชลีนมัสการพระเถระเจ้า ขอถวายตนเป็นศิษย์

          พระเถระพามาณพน้อยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงประทานพระโอวาท ให้นันโทปนันทะ เว้นขาดจากปาณาติบาต ดำรงตนอยู่ในศีลอย่างเคร่งครัดแต่บัดนั้นมา

          การเอาชนะพญานาคราชผู้มีฤทธิ์ครั้งนี้ พระพุทธองค์มิได้ทรงแสดงฤทธิ์ปราบเอง หากทรงมีพุทะบัญชาให้พระอัครสาวกเบื้องซ้ายคือพระโมคคัลลานะไปปราบแทน ซึ่งก็มีหลายครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้ ผู้ที่รับพุทธบัญชาไปดำเนินการปราบจนสำเร็จมักจะเป็นพระเถระรูปนี้ เนื่องจากท่านเป็นพระเถระที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีฤทธิ์มาก

          คำว่า “ปราบ” ในความหมายนี้มิได้หมายถึง การประหัตประหารให้ตกตายไปข้างหนึ่งตามความหมายทั่วไป หมายถึงการ “ทรมาน” ให้สิ้นพยศ ก็อีกแหละ คำว่า “ทรมาน” ในที่นี้ หมายถึง “การข่ม การทำให้สิ้นพยศ หรือให้ละทิ้งความเห็นผิด หันมาเห็นถูกต้อง”

          ที่นี้มาถึงคำว่า “นาค” คืออะไร ผมใคร่กราบเรียนท่านผู้อ่านดังนี้ครับ

          – ถ้าเราแปลตามตัวอักษร นาคก็คือนาค นาคก็คืองูใหญ่ นาคมีสองประเภทคือนาคที่มีฤทธิ์ กับนาคไม่มีฤทธิ์ ประเภทที่มีฤทธิ์นั้นสามารถแปลงเป็นคนได้ และร่างคนนั้นจะคงอยู่ได้ตราบเท่าที่แกยังมีสติควบคุมต่อเมื่อขาดสติควบคุม เช่นเวลานอนหลับร่างจะกลับเป็นนาคเหมือนเดิมทันที ดังกรณีนาคที่แปลงเป็นคนมาบวชในพระพุทธศาสนาที่เล่าไว้ในพระวินัยปิฎกนั้นแล

          ถ้าเชื่อว่าพระโมคคัลลานะไปปราบนาค ก็คือไปปราบนาคประเภทมีฤทธิ์นี้ ก็มีสิทธิเชื่อได้ไม่เสียหายอะไร เพราะมีข้อมูล หรือข้อเท็จจริงยืนยัน

พระคาถาพาหุง

บทที่ ๘,๙

ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง
พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุเต ชะยะมังคะลานิ

พรหมชื่อพกะ (ถือตัวว่า) มีความ
บริสุทธิ์ รุ่งเรืองและมีฤทธิ์
ยึดมั่นในความเห็นผิด
ดุจมีมือถูกอสรพิษขบเอา
เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา
โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที
หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ
โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ

คนมีปัญญาสวดพุทธชัยมงคล
คาถาทั้ง ๘ นี้เป็นประจำ โดยไม่เกียจคร้าน
พึงขจัดอุปัทวันตรายทั้งหลายได้ บรรลุถึงซึ่ง
พระนิพพานอันเป็นสุข

          บทที่ ๘ นี้เป็นบทสุดท้ายของพระคาถาพาหุง ส่วนบทที่๙ เป็นคำสรุปตบท้าย ความว่า

คำแปลอาจฟังยากไปนิด ความหมายเป็นการเปรียบเทียบ คือ เปรียบเทียบความเห็นผิดเหมือนอสรพิษร้าย พกะพรหมแกยึดมั่นในความเห็นผิด เรียกว่าเป็นคนอยู่ในภาวะอันตราย ดุจจับงูพิษ แล้วถูกมันขบเอาไม่ตายก็คางเหลืองอะไรทำนองนั้น

          พระพุทธองค์ทรงรักษาพิษงู (ความเห็นผิด) ด้วยใช้ยาวิเศษ คือญาณ (ความหยั่งรู้ความจริง) แล้วในที่สุดพกะพรหม แกก็รอดตาย แปลให้ฟังง่ายๆ ดังนี้ก็แล้วกัน ภาษาพระมันยากอย่างนี้แหละ ท่านสารวัตร อีกอย่างหนึ่งท่านประพันธ์เป็นบทกวีด้วย ก็ต้องถอดความกันหลายชั้นหน่อย

          ดุจดังบทกวีว่า “สามวันจากนารีเป็นอื่น” ไม่รู้ว่านารีเป็นอื่น หรือชายเป็นอื่น เที่ยวโทษกันให้วุ่น

          เรื่องมีอยู่ว่า พรหมชื่อ พกะ อยู่ในพรหมโลกเป็นเวลานาน นานเสียจนแกเกิดความเข้าใจผิดว่า สรรพสิ่งเที่ยงแท้ไม่แปรผัน เป็นมาอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นชั่วนิรันดรที่แกคิดเช่นนี้เพราะแกก็อยู่มานานมาก ไม่เห็นเป็นอย่างอื่นเลย ความเข้าในผิดอย่างนี้เรียกว่า “สัสตทิฐิ” (เห็นว่าสรรพสิ่งเป็นนิรันดร)

          ไม่ต้องอธิบายในเชิงปรัชญาให้เข้าใจยากเอาใกล้ๆ ตัวเรานี่แหละ นักการเมืองที่อยู่ในตำแหน่งใหญ่โตมานานจนนึกว่า ประเทศชาติเป็นของตนคนเดียว ไม่มีตนแล้ว ประเทศชาติคงอยู่ไม่ได้ จึงพยายามทุกวิถีทาง จะให้ตนอยู่ในตำแหน่งนั้นนานๆ เกาะเก้าอี้แน่นยิ่งกว่าตุ๊กแก เพราะแกคิดว่า สิ้นแกแล้วประเทศจะสลาย หารู้ไม่ว่า ยิ่งแกอยู่นานประเทศยิ่งล่มจมเร็วขึ้น

          คนที่คิดอย่างนี้ ย่อมยากจะเข้าใจหลักไตรลักษณ์ยากจะบรรลุสัจธรรม เพราะฉะนั้นพระคาถาจึงเปรียบเทียบ พกะพรหมผู้มีมิจฉาทิฐิชนิดนี้ เหมือนคนถูกงูพิษกัดที่มือไม่รีบรักษาอาจถึงแก่ชีวิตทันที

          พระพุทธเจ้า เสด็จไปเทศน์ โปรดพกะพรหม ให้คลายความเห็นผิดนี้เสีย แต่กว่าจะเอาแกอยู่ก็ต้องออกกำลังพอสมควร พกะพรหมท้าพระพุทธเจ้าแสดงฤทธิ์หายตัว พระพุทะองค์ทรงรับคำท้า และแล้วการประลองฤทธิ์ก็เกิดขึ้น (แน่ะ พูดยังกับหนังกำลังภายใน)

          ไม่ว่า พกะพรหมจะหายไปซ่อนตัวอยู่ที่ไหน พระพุทธองค์ทรงหายพระองค์บ้าง พกะพรหมก็หมดปัญญาค้นหา ท้ายสุดเมื่อแกยอมแพ้พระพุทธองค์ก็เสด็จออกมาจากมวยผมแก

          เรื่องก็จบแค่นี้ แต่ ก็ยังไม่จบก็คือผู้อ่านอาจตีความตามตัวอักษรก็ได้ พรหมก็พรหมจริงๆ อยู่โน่น บนพรหมโลกโน่น เชื่ออย่างนี้ไม่ผิดดอก เพราะมีหลักฐานยืนยันในพระคัมภีร์ว่า พรหมมีจริง ใครไม่เชื่อ ก็ฟังเอาไว้อย่าลบหลู่ (วลีนี้กำลังฮิตในปัจจุบัน)

          แต่ถ้าจะตีความตามภาษาธรรมก็ได้ พกะพรหมเป็นสัญลักษณ์ของคนโง่ คนที่มีความเห็นผิดไม่เข้าใจหลักไตรลักษณ์ คนที่โง่แล้วยังหยิ่งน่าหยิกอีกต่างหาก คนประเภทนี้ยากจะสอนให้สละความเห็นผิดได้ แะลการสามารถสอนคนโง่แกมหยิ่งให้คลายความเห็นผิดนั้น มิใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องใหญ่ พอๆ กับเอาชนะ “พรหม” ซึ่งชาวโลกสมัยนั้นเชื่อกันว่าเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่

          การหายตัวแล้วยังหาพบอยู่ (แบบพกะพรหม) แสดงว่า ตราบใดที่ยังละตัณหา มานะ ทิฐิ ไม่หมด ละได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ยังไม่เข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ ส่วนการหายตัวแล้วหาอย่างไรก็ไม่พบ (แบบพระพุทธเจ้า) นั่นแหละคือการถึงที่สุดแห่งทุกข์โดยสิ้นเชิง

          และการที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกมาจากมวยผมพรหม เท่ากับเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า พระองค์ทรงเอาชนะได้ในทางปัญญาทรงสอนให้คนโง่แกมหยิ่งหัดใช้ “สมอง” คิดให้เข้าใจธรรมดาของสังขารทั้งหลายเสียบ้างแล้วจะเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุด

          แล้วแต่ท่านจะตีความเอาเถอะครับอย่างไรก็ได้ ขอเพียงอย่าให้ขัดกับหลักการของพระพุทะศาสนาเป็นใช้ได้

          คาถาสรุปนั้นท่านย้ำว่าใครก็ตามที่สวดคาถาพาหุงเป็นประจำ จะพ้นจากภยันตรายทั้งปวง และบรรลุพระนิพพานได้ (นี่ย่อมหมายถึงสวดแล้วดำเนินตามรอยยุคลบาทของพระศาสดา ในเรื่องการเอาชนะความชั่วร้ายทั้งปวงด้วย)

          ท้ายนี้ขอเล่าเกร็ดเกี่ยวกับคาถาพาหุงสักเรื่อง ท่านศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี สมัยยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ ท่านได้รับเชิญ จากรัฐบาลนัสเซอร์ แห่งอียิปต์ ทำอย่างไรไม่ทราบท่านทำหนังสือเดินทางหาย ท่านนั่งสวดคาถาพาหุงกลับมาไม่ทราบกี่เที่ยว จนเครื่องบินลงสนามบินประเทศอียิปต์

          ท่านรอให้คนอื่นเดินออกไปก่อน ตนเองยืนอยู่ท้ายเขา พลางสวดคาถาและภาวนาขอให้เข้าเมืองได้ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็ประทับตราคนนั้นคนนี้จนเหนื่อย พอมาถึงท่านท่านร้องดังๆ ว่า “ฉันเป็นแขกนัสเซอร์” เขาตอบว่า “แขกท่านนัสเซอร์เรอะ เชิญเลย” ตกลงไม่ต้องดูพาสปอร์ตกันเลย ท่านว่านี้คือความมหัศจรรย์ของคาถาพาหุง ความข้างต้นนี้ผมได้รับฟังมาจากท่านอาจารย์เสฐียรฯ โดยตรงเลยนำมาเล่าให้ฟัง ไม่ใช่เพื่อเชื่อ แต่เพื่อฟังไว้เป็นข้อพิจารณา

          ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เขาเตือนกันอย่างนี้มิใช่หรือครับ

บทสวดต่อคาถาพาหุง
คำสวดบาลี
มหาการุณิโก นาโถ
หิตายะ สัพพะปาณินัง
ปูเรตวา ปาระมี สัพพา
ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
โหตุ เต ชะยะมังคะลัง ฯ
ชะยันโต โพธิยา มูเล
สัก์ยานัง นันทิวัฑฒะโน
เอวัง ตะวัง วิชะโย โหหิ
ชะยัสสุ ชะยะมังคะเล
อะปะราชิตะปัลลังเก
สีเส ปะฐะวิโปกขะเร
อะภิเสเก สัพพะพุทธานัง
อัคคัปปัตโต ปะโมทะติ ฯ
สุนักขัตตัง สุมังคะลัง
สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง
สุขะโณ สุมุหุตโต จะ
สุยิฏฐัง พรัหมะจาริสุ
ปะทักขิณัง กายะกัมมัง
วาจากัมมัง ปะทักขิณัง
ปะทักขิณัง มะโนกัมมัง
ปะณิธี เต ปะทักขิณา
ปะทักขิณานิ กัตวานะ
ละภันตัตเถ ปะทักขิเณ ฯ
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง
รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะพุทธานุภาเวนะ
สะทา โสตถี ภะวันตุ เต
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง
รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะธัมมานุภาเวนะ
สะทา โสตถี ภะวันตุ เต
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง
รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะสังฆานุภาเวนะ
สะทา โสตถี ภะวันตุ เต ฯ
 

คำแปล

พระผู้มีกรุณาต่อชาวโลก
เป็นที่พึ่งคลายโศกมหาศาล
ทรงบำเพ็ญบารมีมาช้านาน
จนบรรลุโพธิญาณอันเลิศล้ำ
ด้วยสัจจะวาจาที่กล่าวขาน
ขอให้ชำนะมารสันดานต่ำ
ขอให้สบมิ่งมงคลกุศลนำ
ดุจพระสัมพุทธเจ้าของเรานี้

พระทรงเป็นที่เคารพสักการะ
ของเหล่าศากยะบุรีศรี
ประทับใต้โพธิ์ใหญ่ใกล้วารี
ละกิเลสเหตุอัปรีย์ที่มีมา

เหนือบัลลังก์ปฐพีที่พิชิต
สยบมารเรืองฤทธิ์ผู้หาญกล้า
ถึงสุดยอดแห่งพุทธะศาสดา
ศายวงศ์พงศาปลื้มเปรมใจ

ขอให้ท่านทั้งหลายได้ฟังสวด
ชัยมงคลแปดหมวดอันยิ่งใหญ่
จงบรรลุกุศลมงคลชัย
ดุจจอมไตรโลกนาถศาสดา

ฤกษ์จะงามมิใช่งามที่ตัวฤกษ์
อรุณเบิกแสงสว่างกระจ่างหล้า
ก็เพียงบอกขณะผันวันเวลา
จะบ่งค่าชั่วดีเห็นไม่เป็นจริง

อันกรรมดีกรรมชั่วเป็นตัวชี้
ถ้าละชั่วทำดีพร้อมทุกสิ่ง
ทั้งกายวาจาใจไม่ประวิง
คือยอดยิ่งมิ่งขวัญมงคลชัย

ถ้าทำดีเมื่อไรได้ดีแท้
ถ้าทำชั่วชั่วแน่อย่าสงสัย
ทำเมื่อใดได้เมื่อนั้นได้ทันใจ
ฤกษ์พานาทีใดไม่สำคัญ

ผู้ทำดีด้วยกายวาจาใจ
ปณิธานตั้งไว้อย่างคงมั่น
ย่อมได้บุญกุศลผลอนันต์
เพราะดีนั้นบันดาลดีทุกทีไป

ขอพุทธานุภาพจงนำผล
ให้เกิดสรรพมงคลยิ่งใหญ่
ขอเหล่าเทพารักษ์พิทักษ์ภัย
บันดาลให้พิพัฒน์สวัสดี

ขอธรรมานุภาพจงนำผล
ให้เกิดสรรพมงคลสุขี
ขอเทพไท้ทั้งผองป้องไพรี
ให้เกิดศรีสุขสวัสดิ์พิพัฒน์ชัย

ขอสังฆานุภาพจงนำผล
ให้เกิดสรรพมงคลยิ่งใหญ่
ขอเหล่าเทพรักษ์พิทักษภัย
บันดาลให้สุขสวัสดิ์พิพัฒน์ เทอญ

ประวัติย่อผู้เขียน

ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

          เปรียญธรรม ๙ ประโยค (ขณะเป็นสามเณร) อุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์ ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) และปริญญาโท สาขาภาษาตะวันออกโบราณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

          – ตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ สาขา ปรัชญาศาสนา มหาวิทยาลัยศิลปากร

– ปัจจุบันเป็นราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ประเภทปรัชญาสาขาศาสนศาตร์
– เป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยศิลปากรม มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน และเป็นอาจารย์บรรยายเกี่ยวกับพระพุทะศาสนา และจริยธรรมตามสถาบันต่างๆ
– เป็นกรรมการร่างหลักสูตรวิชาพระพุทะศาสนา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย
– เป็นผู้แต่งตำราเรียนวิชาพระพุทธศาสนาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย
– เป็นประธานกรรมการจัดทำคู่มือการสอนพระพุทธศาสนา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

          – เป็นกรรมการผลิตตำราระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน

          – เป็นคอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายเดือน หลายฉบับ

          – เป็นนักเขียน มีงานเขียนทั้งทางวิชาการและกึ่งวิชาการพิมพ์เผยแพร่ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ เล่ม อาทิ พุทธวจนะในธรรมบท, พุทธศาสนา ทัศนะและวิจารณ์. พุทธจริยาวัตร พากย์ ไทย, อังกฤษ, บทเพลงแห่งพระอรหันต์, เพลงรักจากพระไตรปิฎก, พระไตรปิฎกวิเคราะห์, สองทศวรรษในดงขมิ้น, สูตรสำเร็จแห่งชีวิต, สู่แดนพุทธภูมิ, ไปไหว้พระบาทพระพุทะองค์,เนื้อติดกระดูก, นิทานปรัชญาเต๋า, พุทะวิธีแก้ทุกข์, สัมผัสพระพุทธเจ้าด้วยใจ, ยุทธจักรดงขมิ้น, ใต้ร่มใบบุญ, สวนทางนิพพาน, พุทธศาสนสุภาษิต, พจนานุกรมไทย – อังกฤษ, สิบล้อฮั่น, จุดประกายแห่งชีวิต ฯลฯ

          “…เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้ารัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยเข้าร่วมกับฝ่าย สัมพันธมิตร เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ และทรงส่งทหารไปสู่สงคราม เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ นั้น พระองค์ทรงนำกองทัพสวดคาถาพาหุงพร้อมทั้งคำแปลที่ทรงพระราชนิพนธ์เป็น วสันตดิลก เพื่อชัยชนะแห่งกองทัพไทย และฝ่ายพันธมิตร…”