ธรรมะที่ทำให้พระสารีบุตรออกบวชและบรรลุธรรม

พระสารีบุตร เป็นพระภิกษุชาวอินเดีย ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระโคตมพุทธเจ้า ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศกว่าพระภิกษุทั้งปวงในด้านสติปัญญา

พระสารีบุตรเมื่อแรกเกิดมีชื่อว่า “อุปติสสะ” เป็นบุตรของนางพราหมณี ชื่อ “สารี” และนายพราหมณ์ ชื่อ “วังคันตะ” ผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านอุปติสคามแห่งตำบลตำบลนาลกะ หรือตำบลนาลันทา

ที่ท่านได้ชื่อว่า “อุปติสสะ” นี้เพราะเป็นบุตรแห่งสกุลอันประเสริฐสุดในอุปติสสคาม อุปติสสะนั้นมีน้องชายสามคน คือ พระจุนทะ พระอุปเสน พระเรวัตตะ และมีน้องสาวอีกสามคน คือ นางจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ซึ่งล้วนออกบวชในบวรพุทธศาสนาและได้บรรลุพระอรหัตตผลในที่สุดทุกองค์

ในวันเดียวกับที่นางสารีพราหมณีได้ให้กำเนิดอุปติสสะนั้น นางโมคคัลลีพราหมณีในบ้านโกลิตะก็ได้ให้กำเนิดบุตรชื่อว่า “โกลิตะ” หรือต่อมาคือพระมหาโมคคัลลานะ เช่นกัน ครอบครัวของนางพราหมณีสารีนั้นมีความมั่งคั่งสมบูรณ์พร้อมมูลพอ ๆ กับครอบครัวของโกลิตะ นิสัยใจคอของทั้งอุปติสสะและโกลิตะก็คล้ายคลึงกัน ท่านทั้งสองได้คบหาและเล่าเรียนจนสำเร็จศิลปศาสตร์ทุกอย่างด้วยกันมาแต่เล็ก ๆ จนเติบใหญ่ นอกจากนี้ ครอบครัวของทั้งสองก็ยังเป็นสหายเกี่ยวเนื่องกันมาถึง ๗ ชั่วโคตร ทั้งสองจึงเป็นเพื่อนรักกันอย่างยิ่ง

วันหนึ่ง อุปติสสะและโกลิตะไปเที่ยวเล่นในงานรื่นเริงประจำปีในกรุงราชคฤห์ แต่มิได้มีความสนุกสนานอย่างเคย เพราะญาณปัญญาเริ่มแก่กล้าทำให้มีสติปัญญาพิจารณาหาสาระในมหรสพและชีวิต ก็เกิดความสลดใจขึ้นว่า ไม่เห็นจะมีอะไรควรดูควรได้จากมหรสพนี้ คนที่แสดงเหล่านี้ทั้งหมดมีชีวิตไม่ถึง ๑๐๐ ปี ก็จะล้มหายตายจากกันไป เราทั้งหลายควรจะแสวงหาโมกขธรรมเครื่องหลุดพ้นจากบ่วงเช่นนี้

สองวันต่อมาจึงพากันไปบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก ณ กรุงราชคฤห์นั้นเอง และสำเร็จการศึกษาในสำนักนั้นโดยใช้เวลาเพียงสองสามวัน

เมื่อจบแล้วก็ออกจากสำนัก แต่ยังไม่พึงพอใจเพราะเห็นว่าความรู้จากสำนักนั้นหาใช่ที่ตนค้นหาไม่ จึงตกลงแยกกันไปตามหาครูผู้สามารถสอนความจริงของโลกให้ประจักษ์ได้อย่างแท้จริง และสัญญากันว่า หากผู้ใดระหว่างเราสองคน ใครได้บรรละอมตธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่อีกคน

สมัยนั้น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุพระปรมาภิสัมโพธิญาณแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร แล้วได้ส่งพระสาวกออกประกาศคำสอน ส่วนพระองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์

พระอัสสชิผู้เป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ หลังจากได้ฟังพระธรรมเทศนาจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนบรรลุอรหัตตผลแล้ว วันหนึ่งท่านถือบาตรและจีวร ไปสู่กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาตแต่เช้าตรู่

ขณะนั้นเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์
มีกิริยาที่ก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้าเหยียดออก น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง ถึงพร้อมด้วย
อิริยาบถ

อุปติสสะได้เห็นท่านพระอัสสชิกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์มีกิริยาก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้า เหยียดออก น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลงถึงพร้อมด้วยอิริยาบถแล้วคิดว่า

“ภิกษุรูปนี้คงเป็นองค์ใดองค์หนึ่ง บรรดาพระอรหันต์หรือท่านผู้ดำเนินสู่หนทางแห่งความเป็น
พระอรหันต์ในโลกเป็นแน่ ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปหาภิกษุนี้ถามว่า ผู้มีอายุ ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็น
ศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร”

แล้วคิดว่า “บัดนี้ยังเป็นกาลไม่สมควรที่จะถามภิกษุนี้เพราะท่านกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ถ้ากระไร เราควรติดตามภิกษุนี้ไปข้างหลัง เพราะการติดตามไปข้างหลังนี้เป็นหนทางที่ผู้มีความต้องการรู้แล้ว”

ต่อมา ท่านพระอัสสชิได้เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ รับบิณฑบาตแล้วกลับลำดับนั้น อุปติสสะจึงเข้าไปหาท่านพระอัสสชิแล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกกันแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร เรียนถามว่า

“ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณ บริสุทธิ์ผุดผ่องผู้มีอายุ ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร”

พระอัสสชิกล่าวตอบว่า “ท่าน มีพระมหาสมณะผู้เป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เราบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นศาสดาของเรา และเราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น”

“ก็พระศาสดาของท่านตรัสอย่างไรสอนอย่างไร”

“ท่าน เราเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารแก่ท่านได้แต่จักกล่าวแต่ใจความโดยย่อแก่ท่าน”

ทีนั้น อุปติสสะกราบเรียนท่านพระอัสสชิว่า

“เอาเถอะ ผู้มีอายุจะน้อยหรือมากก็ตาม จงกล่าวเถิดจงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้าข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้นท่านจักทำพยัญชนะให้มากไปทำไม”

ลำดับนั้น ท่านพระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้แก่อุปติสสะว่า

เย ธมฺมา เหตุปฺปพฺภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต
เตสญฺจโย นิโรโส จ เอวํ วาที มหาสมโณ

ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระคถาคตเจ้าทรงตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น และความดับเหตุของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณเจ้าทรงตรัสอย่างนี้

เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้ธรรมจักษุ อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่อุปติสสะว่า

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา”

อุปติสสะกล่าวว่า“ถ้าธรรมนี้มีเพียงเท่านี้ ท่านก็ได้รู้ แจ้งแทงตลอดทางอันหาความโศกมิได้แล้วอันเป็นทางที่พวกข้าพเจ้ายังไม่ได้เห็นล่วงเลยมาแล้วหลายหมื่นกัป”

เมื่ออุปติสสะได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน หลังจากนั้น อุปติสสะกราบลาพระอัสสชิเถระ แล้วนำธรรมะที่ได้รับฟังมา ไปบอกเพื่อนสนิทคือโกลิตะ จนได้บรรลุโสดาบันเช่นเดียวกัน

ทั้งสองได้ไปชักชวนสัญชัยปริพาชกให้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่สัญชัยปริพาชกปฏิเสธ ทั้งสองจึงได้พาปริพาชก ๒๕๐ คน ไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์

หลังจากฟังธรรมครั้งนั้น ปริพาชก ๒๕๐ คน บรรลุอรหัตผล แต่อุปติสสะและโกลิตะยังคงบรรลุเพียงโสดาบันเช่นเดิม พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งหมดด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ภายหลังบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านอุปติสสะมีชื่อเรียกใหม่ว่าพระสารีบุตร ส่วนโกลิตะได้ชื่อว่าพระมหาโมคคัลลานะ

พระสารีบุตรใช้เวลาล่วงเลยไปครึ่งเดือนนับจากวันบวช จึงจะบรรลุพระอรหัตตผลที่ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชกูฏ นครราชคฤห์ เหตุที่ว่า

เมื่อพระสารีบุตรอุปสมบทได้ ๑๕ วันแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่ถ้ำสุรขาตา เขาคิชฌกูฎ เมืองราชคฤห์ ปริพาชกคนหนึ่งชื่อ ทีฆนข อัคคิเวสนโคตร เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วกราบทูลความเห็นของตนว่า

“ข้าแต่พระโคตมะ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด”

พระบรมศาสดาจึงตรัสตอบว่า

“ดูก่อนอัคคิเวสนะ ถ้าอย่างนั้นความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านต้องไม่ชอบใจความเห็นอย่างนั้น”

ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงแสดงทิฏฐิ ๓ อย่าง ให้ปริพาชกนั้นเห็นว่าเป็นโทษ และแนวทางละทิฏฐิ ๓ อย่างนั้น ลำดับนั้นทรงแสดงอุบายเครื่องไม่ยึดมั่นอีกต่อไป

ขณะนั้นพระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง) ของพระบรมศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่ตรัสแก่ทีฆนขปริพาชก แล้วใช้ปัญญาพิจารณาตามพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่น ถือมั่นด้วยอุปทาน บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

ส่วนทีฆนขปริพาชกได้เพียงดวงตาเห็นธรรม หมดสิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธศาสนา แล้วทูลแสดงตนเป็นอุบาสก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *