พระคาถาโพชฌงคปริตร บทสวดมนต์เพื่อให้มีกำลังใจหายจากอาการป่วย

พระคาถาโพชฌงคปริตร บทสวดมนต์เพื่อให้มีกำลังใจหายจากอาการป่วย

โพชฌงค์เป็นหลักธรรมหมวดหนึ่งที่อยู่ในบทสวดมนโพชฌังคปริตร ถือเป็นพุทธมนต์ที่ช่วยให้คนป่วยที่ได้สดับตรับฟังธรรมบทนี้แล้วสามารถหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้

ที่เชื่ออย่างนี้เพราะมีเรื่องในพระไตรปิฎกเล่าว่า

สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระมหากัสสปะอาศัยอยู่ในปิปผลิคูหา บัง เกิดโรคาพาธแรงกล้า อาการหนักขึ้นทุกวันขณะที่พระผู้มีพระภาค ทรงสถิตอยู่ในสมาบัติ เมื่อถึงกาลอันควร ทรงออกจากสมาบัติแล้ว จึงทรงมีพระกรุณาโปรด เสด็จไปเยี่ยมอาการไข้ของพระมหากัสสปะเถระ ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ ให้ท่านพระมหากัสสปะได้รับฟัง เมื่อจบพระธรรมเทศนานั้น พระมหากัสสปะ มีจิตโสมนัสยินดีรื่นเริงในธรรม ลุกขึ้นกราบพระบาท หายจากอาการไข้โดยพลัน

อีกครั้ง ขณะที่พระบรมศาสดา ทรงประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ ครานั้นพระมหาโมคคัลลานะ อาศัยอยู่ ณ เขาคิชฌกูฎ เกิดอาการอาพาธหนัก พระบรมศาสดาเมื่อทรงออกจากสมาบัติแล้วไปเสด็จไปเยี่ยมอาการป่วยของพระโมคคัลลานะ แล้วทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้พระมหาโมคคัลลานะฟัง พระมหาโมคคัลลานะนั้นก็หายจากอาการป่วยโดยพลัน

แม้พระบรมศาสดาเอง เมื่อครั้งที่พระองค์ ทรงพระประชวรหนัก ด้วยโรคปวดท้อง มิมียาใด ๆ รักษาให้หายได้ จึงมีพระพุทธฎีการับสั่งให้พระจุนทะเถระ แสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้พระองค์ทรงสดับ

เมื่อพระจุนทะเถระแสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการจบลง พระบรมศาสดาก็ทรงหายจากอาการประชวรโดยพลัน ทรงเสด็จลุกขึ้นจากพระบรรทมได้ในทันที

การสวดพระปริตรเป็นประจำจะทำให้เกิดอานุภาพกับผู้ที่ปฏิบัติโดยตรง แต่เดิมการสวดพระปริตรเป็นการบริกรรมภาวนาเฉพาะตัว เพื่อคุ้มครองป้องกันตัวเอง ให้ได้รับผลานิสงส์ ประสบความสวัสดี ปราศจากทุกข์ ได้รับชัยชนะ เหนือสัตว์ร้าย อมนุษย์ร้าย ทั้งหลาย แคล้วคลาดจากอุปสรรค อันตราย มีสุขภาพดีและมีอายุยืนแต่เมื่อการสวดพระปริตรขยายวงกว้างออกไปเพื่อคุ้มครองผู้อื่น

ผู้สวดพระปริตรต้องเพียบพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ
๑. มีเมตตามุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง
๒. สวดถูกอักขระ ไม่มีบทพยัญชนะที่ผิดพลาด
๓. รู้ความหมายของบทสวด

ผู้ฟังพระปริตรเอง ก็ต้องมีองค์ ๓ เช่นกัน คือ
๑.ไม่เคยทำอนันตริยกรรม ๕ คือ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ประทุษร้ายนางภิกษุณี และทำสังฆเภท
๒.ไม่มีมิจฉาทิฐิที่เห็นผิดว่า กรรมและผลกรรมไม่มี
๓.เชื่อมั่นในพลานุภาพพระปริตรว่า มีจริง สามารถคุ้มครองผู้ฟังได้จริง

อย่างไรก็ดี พระปริตรจะไม่คุ้มครองรักษา เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. กรรมเข้าขัดขวาง ๒. กิเลสเข้าขัดขวาง ๓. เพราะไม่เชื่อในอานุภาพ

การสวดพระปริตรนั้น มีอำนาจอานุภาพคุ้มครอง ป้องกันอันตรายภัยพิบัติต่าง ๆ เกิดความสุขสวัสดีมีชัย และยังถือว่าเป็นมงคล ไม่มีคำสาปแช่งให้ร้าย เป็นการให้พร แสดงความปรารถนาดี ด้วยหลักธรรมสำคัญสองข้อ คือ สัจจกิริยา และ เมตตา

โพชฌงคปริตร ประกอบไปด้วย ธรรมะ 7 ประการ ได้แก่
1. สติ ความระลึกได้
2. ธรรมวิจยะ การวินิจฉัยธรรม
3. วิริยะ ความเพียร
4. ปีติ ความอิ่มใจ
5. ปัสสัทธิ ความสงบ
6. สมาธิ จิตตั้งมั่น
7. อุเบกขา ความวางเฉย

บทสวด โพชฌังคปริตร
โพชฌังโค สะติสังขาโต                     ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
โพชฌงค์ 7 ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์
วิริยัมปีติ ปัสสัทธิ                                                โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
วิริยะสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา                              สัตเตเต สัพพะทัสสินา
สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ 7ประการเหล่านี้
มุนินา สัมมะทักขาตา                                        ภาวิตา พะหุลีกะตา
เป็นธรรมอันพระมุนีเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว )
สังวัตตันติ อะภิญญายะ                                    นิพพานายะ จะ โพธิยา
อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                                       โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ
                เอกัสมิง สะมะเย นาโถ                      โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
ในสมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะ
คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา                                         โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
เป็นไข้ ได้รับความลำบาก จึงทรงแสดงโพชฌงค์ 7 ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง
เต จะ ตัง อะภินันทิตวา                                     โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
ท่านทั้งสองนั้น ชื่นชมยินดียิ่ง ซึ่งโพชฌังคธรรม โรคก็หายได้ในบัดดล
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                       โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ
                เอกะทา ธัมมะราชาปิ                          เคลัญเญนาภิปีฬิโต
ในครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเอง (พระพุทธเจ้า) ทรงประชวรเป็นไข้หนัก
จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ                                     ภะณาเปตวานะ สาทะรัง
รับสั่งให้พระจุนทะเถระ กล่าวโพชฌงค์นั้นนั่นแลถวายโดยเคารพ
สัมโมทิตวา จะ อาพาธา                                     ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
 ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากพระประชวรนั้นได้โดยพลัน
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                                       โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา
 ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้  ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ
                 ปะฮีนา เต จะ อาพาธา        ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
ก็อาพาธทั้งหลายนั้น ของพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง 3 องค์นั้น หายแล้วไม่กลับเป็นอีก
มัคคาหะตะกิเลสาวะ                                         ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
ดุจดังกิเลส ถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้ว ถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                                 โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้  ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ