อภิณหปัจจเวกขณ์ หลักธรรมที่ควรพิจารณาทุกวัน

อภิณหปัจจเวกขณ์ หลักธรรมที่ควรพิจารณาทุกวัน
อภิณหปัจจเวกขณ์ คือ ข้อที่สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ควรพิจารณาเนือง ๆ เป็นหลักธรรมที่ควรพิจารณาทุกวัน ได้แก่ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพราก กรรมและผลของกรรม
๑. ชราธัมมตา  ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒.
พยาธิธัมมตา  ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไมล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้
๓.
มรณธัมมตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔.
ปิยวินาภาวตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๕.
กัมมัสสกตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาท ของกรรมนั้น

ข้อที่ควรพิจารณาเนืองๆ ๕ อย่างนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อละสาเหตุต่างๆ มี ความมัวเมา เป็นต้น  ที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในความประมาท และประพฤติทุจริตทางไตรทวาร กล่าวคือ :-
ข้อ ๑ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในความเป็นหนุ่มสาวหรือความเยาว์วัย
ข้อ ๒ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในความไม่มีโรค คือ ความแข็งแรงมีสุขภาพดี
ข้อ ๓ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในชีวิต
ข้อ ๔ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความยึดติดผูกพันในของรักทั้งหลาย
ข้อ ๕ เป็นเหตุละหรือบรรเทาความทุจริตต่างๆ โดยตรง

ในบทสวดมนต์ ได้กล่าวถึงข้อที่ถึงพิจารณา 5 ประการนี้ว่า
ชราธัมโมมหิ ชะรัง อะนะติโต เรามีความแก่เป็นธรรมดา  จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้
พะยาธิธัมโมมหิ  พะยาธิง  อะนะตีโต เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา  จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้
มะระณะธัมโมมหิ  มะระณัง  อะนะตีโต เรามีความตายเป็นธรรมดา  จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้
สัพเพหิ  เม  ปิเยหิ  มะนาเปหิ  นานาภาโว  วินาภาโว เราจักพลัดพรากจากของที่รัก ของชอบใจทั้งหลาย
กัมมัสสะโกมหิ  กัมมะทายาโท เรามีกรรมเป็นของๆตน  เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
กัมมะโยนิ   กัมมะพันธุ เรามีกรรมเป็นแดนเกิด  เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธ์
กัมมะปะฏิสะระโน   ยัง กัมมัง กะริสสามิ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย  เราทำกรรมอันใดไว้
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา เป็นกรรมดีก็ตาม  เป็นกรรมชั่วก็ตาม
ตัสสะ  ทายาโท  ภะวิสสามิ เราจักต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น
เอวัง  อัมเหหิ  อะภิณหัง  ปัจจะเวกขิตัพพัง เราทั้งหลายพึงพิจารณาเนืองๆอย่างนี้แล.