วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา หลักธรรม และความสำคัญ
ความหมาย ความสำคัญ และหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนวันมาฆบูชา มาฆะ เป็นชื่อเดือนที่ 3 แห่งจันทรคติ ดังนั้น มาฆบูชา จึงแปลว่า การทำบุญในวันเพ็ญเดือนสาม เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญซึ่งประกอบด้วยองค์ 4 ประการ โดยเพราะเหตุสำคัญ 4 ประการนี้ จึงมีชื่อเรียกกันว่าเป็น “วันจาตุรงคสันนิบาต” อันประกอบด้วย
1. วันเพ็ญดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ นั่นคือ การที่ดวงจันทร์เดินทางมาถึงดาวฤกษ์ที่ชื่อ มาฆะ

2. การที่พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

3. พระสงฆ์ที่มาประชุมนั้นล้วนได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปทา หรือได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้า
4. พระสงฆ์ที่มาประชุมนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
 
สำหรับหลักธรรมที่พระพุทธองค์ได้สอนในวันมาฆบูชาได้แก่ โอวาทปาติโมกข์” หมายถึงหลักอันเป็นไปเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น ประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 วิธีการ 6 คือ
หลักการ 3 สรุปสั้น ๆ ได้แก่ การทำความดี ละความชั่ว และการทำจิตใจให้บริสุทธิ์

 
1. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดี ตาม กุศลกรรมบถ ๑๐  แบ่งเป็น

  • การทำความดีทางกาย ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายเบียดเบียน ผู้อื่นมีแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่ประพฤติผิดในกาม
  • การทำความดีทางวาจา ได้แก่ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อพูดแต่คำจริง พูดคำอ่อนหวาน พูดคำให้เกิดความสามัคคีและพูดถูกกาลเทศะ
  • การทำความดีทางใจ ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นมีแต่คิดเสียสละการไม่ผูกอาฆาตพยาบาทมีแต่คิดเมตตาและปรารถนาดีและมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

2. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลด ละเลิก ทำบาปทั้งปวง ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งความชั่ว มีสิบประการ อันเป็นความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ

  • ความชั่วทางกาย ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม
  • ความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ
  • ความชั่วทางใจ ได้แก่ การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม

3. การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ
มี ๕ ประการ ได้แก่

  1. ความพอใจในกาม (กามฉันทะ)
  2. ความอาฆาตพยาบาท (พยาบาท)
  3. ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน (ถีนะมิทธะ)
  4. ความฟุ้งซ่าน รำคาญ (อุทธัจจะกุกกุจจะ) 
  5. ความลังเลสงสัย (วิกิจฉา) เช่น สงสัยในการทำความดี ความชั่วว่ามีผลจริงหรือไม่

วิธีการทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนได้บรรลุอรหัตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง

อุดมการณ์ 4
1. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกายวาจา ใจ
2. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
3. ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ
4. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จาการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ ๘

วิธีการ ๖
1. ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร
2. ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
3. สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎ กติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม
4. รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหาร หรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
5. อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
6. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีสุขภาพ คุณภาพและประสิทธิภาพที่ดี