การเตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง (Menopause)

สตรีวัยทอง หรือสตรีวัยหมดประจำเดือน (Menopause) คือวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจเกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศจากรังไข่ ส่งผลให้ไม่มีประจำเดือนติดต่อกัน 1 ปี โดยพบได้ในช่วงอายุ 40-60 ปี หรือในสตรีที่ได้รับผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายคล้ายๆ คนหมดประจำเดือน

อาการวัยทอง

หลังหมดประจำเดือน บางคนอาจไม่มีอาการ แต่ส่วนใหญ่มีอาการเกิดขึ้นในช่วงใกล้หมดระดู อาการวัยทอง ได้แก่

1. อาการทางกายบางอย่าง เช่น

1.1 เหงื่อออกง่าย ร้อนวูบวาบ หงุดหงิด ขี้ร้อน ปวดเมื่อยตามตัว นอนไม่หลับ อาการเหล่านี้เกิดจากขาดฮอร์โมนเพศที่ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เมื่อฮอร์โมนน้อยลง ทำให้การควบคุมอุณหภูมิไม่ดี ระบบหลอดเลือดจะปรับอุณหภูมิ ทำให้ร้อนวูบวาบเกิดขึ้นเป็นพักๆ และมักจะเป็นตอนกลางคืนทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่เต็มที่ ส่งผลเสียต่อการทำงานของสมอง อาการเหล่านี้มักจะเป็นมากในระยะปีแรกๆ ของวัยทอง
     การแก้ไข : ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจว่ามีโรคอื่นที่ทำให้เกิดอาการคล้ายวัยทองอยู่ด้วยหรือไม่ เช่น โรคคอพอกเป็นพิษ หรือโรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ โรคเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษา มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ในรายที่มีอาการมาก การรับประทานฮอร์โมนเพศหญิง หรือยาบางอย่างจะช่วยลดอาการได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาฮอร์โมน ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
1.2 ผิวหนังแห้งเหี่ยวและคัน การขาดฮอร์โมนเพศทำให้เนื้อเยื่อของผิวหนังขาดความยึดหยุ่นและชุ่มชื้น การใช้ฮอร์โมนเพศจะช่วยให้ผิวหนังยืดหยุ่นขึ้น ลดอาการได้แต่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้แก่ได้
     การแก้ไข : วิธีที่จะช่วยลดอาการคัน คือการไม่ใช้สบู่เวลาอาบน้ำ หรือหากจะใช้ก็ใช้สบู่อ่อน แล้วใช้ครีมหรือน้ำมันทาที่ผิวหนังภายหลังการอาบน้ำ เพื่อช่วยลดการระเหยแห้งของน้ำที่ผิวหนัง
#ศูนย์นรีเวช #โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ #วัยทอง #วัยทองคืออะไร #วัยทองผู้หญิง #วัยทองอายุเท่าไหร่ #วัยทองควรกินอะไร #วัยทอง อาการคัน #วัยทอง คือ #วัยทอง อายุเท่าไหร่ #เหงื่อออกง่าย #ผิวหนังแห้งเหี่ยว #menopause

2. อาการทางด้านจิตใจ อารมณ์

บางรายอาจมีอารมณ์และจิตใจที่ไม่มั่นคงมากกว่าผู้อื่น  บางคนลืมง่าย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ กลัวและซึมเศร้า ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากสมองมีการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมคือฝ่อลง ส่วนหนึ่งเกิดจากากรเปลี่ยนแปลงทางกาย ส่งผลต่อสภาพจิตใจ ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจ และขาดการเอาใจใส่ดูแลจากลูกหลานหรือบุคคลใกล้ชิด
    การแก้ไข : ความรุนแรงของปัญหานี้จะลดลงได้ หากได้รับความเข้าใจ และการเอาใจใส่จากบุคคลอื่น การหากิจกรรมที่เหมาะสมกับตนเอง จะช่วยให้สตรีวัยนี้รู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า

3. อาการทางด้านระบบทางเดินปัสสาวะและช่องคลอด

การขาดฮอร์โมนเพศ ทำให้เนื้อเยื่อช่องคลอดขาดความยืดหยุ่นและชุ่มชื้น ทำให้มีอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ ช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะมีการฝ่อลีบและหย่อนตัวลงทำให้มีปัญหาเรื่องการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อยและมีอาการแสบที่ช่องทางออกของท่อปัสสาวะ ในรายที่เนื้อเยื่อหย่อนมากจะมีผนังช่องคลอด และมดลูกเคลื่อนลงต่ำออกมานอกปากช่องคลอด ดังที่รู้จักกันว่า“กระบังลมหย่อน”
     การแก้ไข : การใช้ครีมที่ผสมฮอร์โมนเพศหญิง หรือสารหล่อลื่นทาบริเวณที่มีอาการแห้งแสบ หรือช่วยหล่อลื่นช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ การบริหารช่องคลอดโดยการขมิบก้นบ่อยๆ ทุกวัน จะช่วยลดปัญหาเรื่องการกลั้นปัสสาวได้ดีขึ้น แต่ในรายที่มีอาการมากหรือเป็นกระบังลมหย่อน จะต้องรักษาโดยการผ่าตัด

4. อาการทางระบบทางเดินอาหารและขับถ่าย

สตรีในวัยทองมักจะไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวช้าลง ประกอบกับการที่ฟันไม่ค่อยดีทำให้ไม่ค่อยได้รับประทานอาหารที่มีกาก ส่งผลให้มีอาการท้องอืดและท้องผูก
การแก้ไข : ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาการที่มีเส้นใย ได้แก่ ผัก ผลไม้และข้าวกล้อง ในรายที่ฟันไม่ดี อาจต้องช่วยทำให้อาหารเหล่านี้อ่อนนุ่มลง เคี้ยวง่ายขึ้น เช่น การคั้น การต้มให้เปื่อย หรือการใช้เครื่องบดอาหารช่วย

5. โรคหัวใจ

การขาดฮอร์โมนเพศหญิง เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด ทั้งนี้เนื่องจากสัดส่วนของไขมันในเลือดเปลี่ยนไป ทำให้ไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดฯลฯ ทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตัน โอกาสเสี่ยงนี้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีอายุมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ มีความดันโลหิตสูง อ้วน สูบบุหรี่ ดื่มสุรามาก มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงและมีความเครียดสูง
    การแก้ไข : เพื่อลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคนี้ ผู้สูงอายุควรจะได้มีการตรวจร่างกายประจำปี เพื่อตรวจวัดความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือด งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป ไม่รับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ได้แก่ ไขมันสัตว์ ไข่แดง กุ้ง ปลาหมึก ฯลฯ

6. โรคกระดูกบาง (กระดูกผุ หรือกระดูกพรุน)

สตรีวัยทองบางรายภายหลังหมดระดูไปแล้ว 10-20 ปี กระดูกอาจบางมากจนทำให้กระดูกหักได้ง่าย แม้ได้รับอุบัติเหตุเพียงเบาๆ หรือเพียงแค่ยกของหนัก ตำแหน่งที่กระดูกหักได้บ่อยในวัยนี้คือ กระดูกสันหลังกระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือ การหักที่กระดูกสันหลังมักเป็นการยุบตัวลง ส่งผลให้ตัวเตี้ยลง หลังโก่ง
    การแก้ไข : ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง ได้แก่ ผักใบเขียว งาดำ ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ฯลฯ นอกจากนี้จะต้องมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น มีผลดีต่อปอด หัวใจ หลอดเลือด กล้ามเนื้อต่างๆ ทำครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์
#ศูนย์นรีเวช #โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ #วัยทอง #วัยทองคืออะไร #วัยทองผู้หญิง #วัยทองอายุเท่าไหร่ #วัยทองควรกินอะไร #วัยทอง อาการคัน #วัยทอง คือ #วัยทอง อายุเท่าไหร่ #เหงื่อออกง่าย #ผิวหนังแห้งเหี่ยว #menopause

การเตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง

  1. ละเว้นจากพฤติกรรมบั่นทอนสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การเสพสิ่งเสพติด ของมึนเมา
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทุกหมู่ แต่ผู้สูงอายุควรลดอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื่องจากจะทำให้ไตเสื่อมสภาพแล้วยังต้องทำงานหนักเกินไป ลดของหวาน ของมัน เนื่องจากทำให้หลอดเลือดเก่าๆ อุดตันได้ง่ายขึ้น เพิ่มอาหารประเภทเส้นใย เช่น ผักและผลไม้ ซึ่งจะช่วยลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาล และยังช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระได้ดีขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
  3. เสริมแคลเซี่ยม ซึ่งมีอยู่มากในอาหารประเภทถั่ว งา ผักใบเขียว ปลาเล็ก ปลาน้อย นมและผลิตภัณฑ์ของนมพร่องมันเนย หรือจะรับประทานยาเม็ดแคลเซี่ยมแทนก็ได้ แต่มีข้อพึงระวังในผู้ที่เป็นโรคไต ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  4. ออกกำลังกาย เป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ควรเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้รู้สึกเหนื่อย หัวใจเต้นเร็วขึ้น ข้อสำคัญคือความสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  5. ควรพักผ่อนจากภาระงานประจำ และมีกิจกรรมเพื่อคลายเครียดบ้าง
  6. คู่สมรสควรจะได้มีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผย เกี่ยวกับความต้องการ และปัญหาด้านเพศสัมพันธ์ หากความพอใจของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกันก็ควรปรึกษาแพทย์
  7. ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งโดยพื้นฐาน ควรจะได้รับการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะและอุจจาระ ตรวจเลือด เช็คเบาหวาน และไขมันในเลือด ผู้หญิงควรได้รับการตรวจเต้านมและตรวจภายใน พร้อมกับเช็คมะเร็งปากมดลูก ในรายที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงของโรคบางอย่าง ก็อาจตรวจเพิ่มเติมตามที่แพทย์เห็นว่าเหมาะสม

ในกรณีที่รู้สึกว่า การเปลี่ยนแปลงในวัยทองรบกวนต่อคุณภาพชีวิต อย่าลังเลที่จะไปพบแพทย์ จะได้พูดคุย ปรึกษาเพื่อเลือกวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสมกับตัวเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก รพ.ศิริราช ปิยมหาการุณย์